สกศ. ลงพื้นที่จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ UNESCO ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดส
ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ กลุ่มบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ลงพื้นที่จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย ณ สำนักงานศึกษาธิการภาค ๙ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปราจีนบุรี และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว นำทีมโดยนางจันทรา เกียรติลุนสงฆ์ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การศึกษา ผู้แทนศึกษาธิการภาค ๙ นายสมคิด ศรีปราชญ์ รองศึกษาธิการจังหวัดปราจีนบุรี และนางมาลี พิณสาย ศึกษานิเทศก์ ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลทางการศึกษาของภาคและจังหวัด โดยจัดประชุมภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำเนินการจัดทำตัวชี้วัดทางการศึกษาตามแบบจัดเก็บของโครงการ World Education Indicators (WEI) ที่ดำเนินการโดยสถาบันสถิติแห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Institute for Statistics : UIS) ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาของไทยในฐานข้อมูลระดับสากล อันสะท้อนถึงสมรรถนะและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ดังปรากฏในรายงานต่าง ๆ เช่น Global Education Digest (GED), World Competitiveness Yearbook (WCY), The Global Competitiveness Report (GCR) ซึ่งระบบฐานข้อมูลมีความสำคัญยิ่งต่อการวางแผนและพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการศึกษา ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และ UNESCO ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพข้อมูล ทั้งในด้านความถูกต้อง ความสมบูรณ์ และความน่าเชื่อถือของข้อมูล จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ในการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย และดำเนินการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาในระดับภูมิภาค
การประชุมในช่วงเช้าได้มีการบรรยายชี้แจงและทำความเข้าใจการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย (Thailand Education Data Quality Assessment Framework: Thailand Ed-DQAF) และกรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย ๓ แนวคิดหลัก ได้แก่ สภาพแวดล้อมขององค์กร กระบวนการทางสถิติ ผลของสถิติทางการศึกษา
หลังจากนั้น ช่วงบ่ายได้มีดำเนินการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาในระดับภูมิภาค โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย ตามแบบประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษา ประกอบไปด้วย ๓ แนวคิดหลัก ๘ หลักการ ๒๑ ตัวชี้วัด ทั้งหมด ๔๖ รายการ เมื่อแล้วเสร็จที่ประชุมได้ร่วมกันสรุปผล และรับรองผลในการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากตัวแทนจากศึกษาธิการภาค ๙ ศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทรา ศึกษาธิการจังหวัดปราจีนบุรี และศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว ร่วมกันให้ความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูล และทำแบบการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ UNESCO สำหรับการวางแผนและพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป