สกศ. - ศธจ.ลำปาง หารือขับเคลื่อน Big data ภาคเหนือ สอดคล้องมาตรฐาน UNESCO

image

 

วันนี้ (๒๑ มีนาคม ๒๕๖๕) สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำปาง โดยมี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา (นางสาวช่อบุญ จิรานุภาพ) เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (นายภาณุพงศ์ พนมวัน) ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศึกษาธิการจังหวัดลำปาง (นายบรรพ์ ใสแจ่ม) ผู้บริหาร บุคลากร เจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำปาง และคณะทำงาน สกศ. ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)

 

 

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ในการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย และดำเนินการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาในระดับภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจากตัวแทนจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นจังหวัดตัวอย่างในการจัดเก็บข้อมูลทางการศึกษา ตามโครงการบริหารข้อมูลทางการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐานสำหรับการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ (Sandbox) เพื่อขับเคลื่อน Big data ระดับจังหวัด  โดยที่ประชุมได้ชี้แจงการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย (Thailand Education Data Quality Assessment: Thailand Ed-DQA) และกรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย ๓ แนวคิดหลัก ได้แก่ สภาพแวดล้อมขององค์กร กระบวนการทางสถิติ และผลของสถิติทางการศึกษา

 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย ตามแนวทางการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษา ประกอบไปด้วย ๓ แนวคิดหลัก ๘ หลักการ ๒๑ ตัวชี้วัด ทั้งหมด ๔๖ รายการ และรับรองผลในการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ  มุ่งสู่เป้าหมายในการรับรองมาตรฐานคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของสถาบันสถิติแห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Institute for Statistics : UIS) สำหรับการวางแผนพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป

 

 

สกศ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพข้อมูล โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการศึกษาที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงดำเนินการจัดทำตัวชี้วัดทางการศึกษาตามแบบจัดเก็บของโครงการ World Education Indicators (WEI) ที่ดำเนินการโดย UIS ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาของไทยในฐานข้อมูลระดับสากล ทั้งในด้านความถูกต้อง ความสมบูรณ์ และความน่าเชื่อถือของข้อมูล
ที่บ่งชี้ถึงสมรรถนะและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ดังปรากฏในรายงานต่าง ๆ เช่น Global Education Digest (GED) World Competitiveness Yearbook (WCY) และ The Global Competitiveness Report (GCR) เป็นต้น  

 

ภาพเพิ่มเติมจาก Facebook ข่าวสภาการศึกษา 
คลิก https://www.facebook.com/media/set?vanity=OECCHANNEL&set=a.7550077358337458

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด