สกศ. ดีไซน์ CJC Model เตรียมรับมือเด็กหลุดออกนอกระบบ
วันนี้ (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (ดร.ประวีณา อัสโย) ประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ พร้อมด้วยบุคลากรจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย ชั้น ๕ อาคาร ๒ สกศ.
ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการทำงาน กรอบการทำงาน และ (ร่าง) ผังงานข้อเสนอ เกี่ยวกับหน้าที่ให้ครอบคลุมตามแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการช่วยเหลือนักเรียนที่หลุดออกนอกระบบ ผู้เรียนที่มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาจากการที่โรงเรียนปิดเป็นเวลานาน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - ๑๙ โดยยกตัวอย่างหน่วยงานที่มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานด้านการศึกษาอื่น ๆ จากสถิติปีการศึกษาที่ ๒/๒๕๖๔ กสศ. ชี้ว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน ๑,๓๐๒,๙๖๘ คน พบปัญหาหลัก ๔ ด้าน ได้แก่ ปัญหาด้านครอบครัว/สังคม ปัญหาด้านพฤติกรรม ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และปัญหาด้านสุขภาพ จึงได้เกิดโครงการจากหน่วยงานด้านการศึกษามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น โครงการ "พาน้องกลับมาเรียน" กิจกรรม "พลังโจ๋" ระบบดูแลเด็ก EWS (Early Warning System) ระบบช่วยเหลือนักเรียน "ไทรน้อยโมเดล ๗ แนวทาง" และ "Corona Model" เป็นต้น
สกศ. เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเกิดไอเดีย "CJC Model": CONNECTING - JOINTING - CENTRALINK ที่จะเข้ามาพัฒนาผู้เรียนและป้องกันการหลุดออกนอกระบบใน ๓ ระยะ เริ่มจาก Care Plan ในระดับบุคคล สถานศึกษา จังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษา สู่การพัฒนาระบบ Network Support ที่ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มมาสนับสนุนเชื่อมโยงการทำงานให้เกิดเสถียรภาพ และพัฒนาไปสู่การสร้าง Provincial Hall ที่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตให้กับทุกคน
ทั้งนี้การออกแบบแนวทางดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันบนจุดแข็งที่ทุกหน่วยงานมี เพื่อขยายความร่วมมือไปสู่เป้าหมายการดึงผู้เรียนกลับสู่ระบบการศึกษาได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งสำคัญในการจัดการศึกษาให้เกิดผลมีคุณภาพและครอบคลุม คือ การสร้างองค์ความรู้และแบบปฏิบัติที่ดี สกศ. ในฐานะผู้วางนโยบายด้านการศึกษา มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อสร้างให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไป