สกศ. จับมือภาคเอกชนลงพื้นที่ภาคใต้ แชร์ไอเดียแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ต่อยอดพัฒนานโยบายการศึกษาชาติ
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2565) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) นำทีมคณะทำงานและบุคลากรของ สกศ. ศึกษาดูงานและจัดการประชุม เรื่อง • "การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค" ภาคใต้ (ครั้งที่ 3) • ระหว่างวันที่ 10 - 11 กุมภาพันธ์ 2565 ณ จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา
การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการผลิตและพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพและทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานและความเปลี่ยนแปลงของโลก
ช่วงเช้า เดินทางศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารและครู โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด) จังหวัดพัทลุง โดยมี นางสาวอรนุช วงค์สวัสดิ์โสต ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียนให้การต้อนรับและนำเสนอผลจัดการเรียนการสอน
โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการสานอนาคตการศึกษา (Connext Ed) โดยบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และโรงเรียนได้ส่งคุณครูเข้าอบรมผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือโครงการ ICT Talent เพื่อยกระดับความสามารถทางด้านเทคโนโลยี นำไปสู่การพัฒนาโรงเรียนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญจากโครงการดังกล่าว มาประสานงาน ส่งเสริมซ่อมแซมอุปกรณ์และกิจกรรมต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเรียน
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โรงเรียนต้องการได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ในการเรียนรู้และเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล ค่าใช้จ่ายสำหรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังคาดหวังให้มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ครอบคลุมหลากหลายรายวิชามากยิ่งขึ้น
ช่วงบ่าย เดินทางศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารและครู โรงเรียนวัดปะโอ จังหวัดสงขลา โดยมี นางสาวฑัยศิกานต์ญา เบณติยานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียนให้การต้อนรับและนำเสนอผลจัดการเรียนการสอน
สำหรับโรงเรียนวัดปะโอ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำห้องเรียนเสมือนจริง VROOM และ VLEARN มาใช้ในการเรียนการสอนให้คุณครูและนักเรียนได้สื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโรงเรียนยังได้เข้าร่วมการอบรม ICT Talent เช่นกัน โดยคุณครูที่เข้าโครงการได้ต่อยอดความรู้ด้วยการจัดกิจกรรมอบรม “ส่งเสริมความรู้ ICT ให้กับผู้ปกครองและชุมชน” เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำความรู้ไปพัฒนาและต่อยอดการสร้างอาชีพต่อไป
นอกจากนี้โรงเรียนยังขยายผลร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ ในชุมชน เพื่อตรวจเช็คอุปกรณ์ ซ่อมแซมและให้คำแนะนำเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ICT Talent การใช้งาน Up Skill ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการวางแผนในการนำไปใช้ในการเรียนการสอนในอนาคต
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โรงเรียนต้องการได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ที่ไม่ทั่วถึงนักเรียนทุกระดับชั้น และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งมีความกังวลถึงแนวทางการควบคุมดูแลสื่อการเรียนการสอนดิจิทัลของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล
_______________________________________________________________________________________________________________________
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง "การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค" ภาคใต้ (ครั้งที่ 3) โดยมีวิทยากรจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ นายพิภพ พิทักษ์ศิลป์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นางสาวสุธาสินี ศุภศิริสินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการศึกษา กลุ่มเซ็นทรัล และผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมด้วยผู้บริหาร ผู้แทนจากโรงเรียนและหน่วยงานการศึกษาในภาคใต้ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรมสยามออเรียลทัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ผู้แทนจากภาคเอกชนได้กล่าวถึงโครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา (Connext ED) และโรงเรียนร่วมพัฒนาที่ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์และส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งสาระความรู้จากสื่อการสอนดิจิทัลทั่วทุกมุมโลกได้อย่างทั่วถึง โดยส่งเสริมการจัดการศึกษาผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้หลายองค์กรต้องปรับตัวจากการทำงานที่ออฟฟิศมาเป็นการทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์ที่กลายมาเป็นความปกติใหม่ (New Normal) เช่นเดียวกับเป้าหมายทางการศึกษาที่ต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะใหม่ที่สอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงานและความเปลี่ยนแปลงของโลก
หลังจากนั้น ที่ประชุมแบ่งกลุ่มร่วมกันอภิปรายรูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งสถานศึกษาหลายแห่งต้องการได้รับการสนับสนุน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านแพลตฟอร์มดิจิทัล 2) อุปกรณ์ใช้งานที่เพียงพอต่อนักเรียนและการซ่อมบำรุงเพิ่มเติม และ 3) ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ภาพและเสียงเสถียรเพื่อความต่อเนื่องในการเรียนการสอน
ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากการลงพื้นที่และการประชุมในครั้งนี้ มาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษา โดยเพิ่มเติมทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Literacy ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต