สกศ. ลุยต่อ เตรียมวางระบบขึ้นทะเบียนรับรองหลักสูตร NQF นำร่อง ปวช.-ปวส. หวังดึงแรงงานกลับเข้าระบบการศึกษา
วันนี้ (๒๖ มกราคม ๒๕๖๕) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ โดยมี ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ดร.วณิชย์ อ่วมศรี นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference)
คณะทำงานได้ร่างองค์ประกอบเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและขั้นตอนรับรองหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว โดยหลักสูตรจุดประกายเริ่มที่การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ของวิทยาลัยนำร่อง ๙ สาขา ในต้นปีการศึกษา ๒๕๖๕ เชื่อมโยงมาตรฐานรายวิชากับมาตรฐานวิชาชีพ ถือเป็นการปรับปรุงหลักสูตรเฉพาะสาขาให้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) สามารถดึงกลุ่มทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษา กลับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาด้วยทักษะฝีมือแรงงาน
ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาต่อเนื่องถึงการพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการจัดทำคู่มือการขึ้นทะเบียน ภายใต้ภารกิจของ สกศ. โดยเชื่อมโยงกับระบบ E-Workforce Ecosystem ของ สคช. เป็นฐานคิดเพื่อออกแบบระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับขึ้นทะเบียนและรับรองหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
การแก้ปัญหากำลังคนของประเทศ ด้วยระบบ E-Workforce Ecosystem สคช. รายงานระบบดังกล่าวว่า เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลรายบุคคล โดยผู้ใช้งานหลักคือ กลุ่มแรงงานตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา คนเริ่มทำงาน คนทำงานวัยเกษียณ และแรงงานนอกระบบ โดยมีระบบ E-Portfolio ข้อมูลใบรับรองการประกอบอาชีพ/ใบรับรองทดสอบฝีมือแรงงาน, ระบบ Digital Credit Bank สามารถนำไปเทียบโอนเข้าสู่ระบบการศึกษาได้, ระบบ Assessment/Certified รับรองการได้คุณวุฒิวิชาชีพจาก สคช. และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำไปสู่การวิเคราะห์ภาพรวมของประชากรวัยแรงงานของประเทศ เห็นศักยภาพกำลังคนของประเทศ ในอนาคตจะนำระบบ AI ช่วยวิเคราะห์ทักษะและแนะนำอาชีพที่เหมาะสม เมื่อข้อมูลรายบุคคลถูกป้อนเข้าสู่ฐานข้อมูลของผู้ประกอบการแล้ว จะถูกเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกรมการจัดหางานและสำนักงานประกันสังคมทันที
ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ประธานอนุกรรมการ ฯ กล่าวว่า หาก สกศ. บูรณาการข้อมูลสาขาวิชา ระดับคุณวุฒิวิชาชีพ หลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เข้าสู่ระบบของ E-Workforce Ecosystem จะเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์แนวโน้มสาขาอาชีพที่มีความต้องการจำเป็นเร่งด่วน ช่วยให้บุคคลที่มีความสามารถหรือมีประสบการณ์ สามารถเทียบโอนความรู้และกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือการมีงานทำได้