ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ขับเคลื่อนงาน กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ครั้งที่ 9
ระหว่างวันที่ 16 – 17 ธันวาคม 2564 สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ครั้งที่ 9 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี Ms. Pichmalika Yim กรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนประจำประเทศกัมพูชาเป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนจาก 10 ประเทศ พร้อมผู้ประสานงาน (focal point) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ในส่วนของประเทศไทยมี ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ในฐานะผู้แทนกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนประจำประเทศไทย (Thailand AQRF Committee) ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ประสานงาน (focal point) ประจำประเทศไทยจาก 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ (1) ด้านการศึกษา จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา คือ นายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและและแผนการศึกษา และดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ พร้อมคณะ (2) ด้านระบบคุณวุฒิ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) คือ นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมคณะ (3) ด้านแรงงาน จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน คือ นายชัยชนะ เดชแพ พร้อมคณะ และ (4) ด้านการค้า จากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คือ นางสาวสุชยา พฤกษ์บำรุง พร้อมคณะ ร่วมด้วยผู้บริหาร/ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของประเทศสมาชิก รวมถึงการขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับสมรรถนะกำลังคน และการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้เรียน/กำลังคนในภูมิภาคอาเซียน
โดยประเทศไทย ถือเป็น 1 ใน 4 ประเทศนำร่อง อันประกอบด้วย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ที่ได้รับการรับรองรายงานการเทียบเคียงฯ อย่างเป็นทางการ และมีความพร้อมในการขับเคลื่อนงาน NQF ในประเทศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการใช้กลไกของ AQRF ในการรับรองสมรรถนะกำลังคนของประเทศ ในรูปแบบความร่วมมือในระดับทวิภาคี (Bilateral Agreement) หรือพหุภาคี (Multilateral Agreement) ที่จะร่วมกันดำเนินงานในอนาคต รวมถึงการเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนประเทศสมาชิกอื่นในการพัฒนา/จัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และการเตรียมเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนในอนาคต