สกศ. ร่วมติดตามงาน ทีมนักวิจัยโครงการศึกษารูปแบบการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ๔.๐ กรณีศึกษาเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่อนุรักษ์อัตลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

image

วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ โดย นายสำเนา เนื้อทอง และคณะทำงาน ได้ติดตามการดำเนินงานเก็บข้อมูลเบื้องต้นของของทีมนักวิจัยโครงการศึกษารูปแบบการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ๔.๐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ๔.๐ ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาคนไทยให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่มีจุดเน้นใน ๓ ด้าน คือ ผู้เรียนรู้  ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็งโดยเก็บข้อมูลจากสถานศึกษาและชุมชนที่มีบริบทแตกต่าง เช่น ชุมชนเกษตรกรรม  ชุมชนอุตสาหกรรม และชุมชนการท่องเที่ยว 



การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูล กรณีศึกษาพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีบริบทเป็นชุนชนท่องเที่ยวและเกษตรกรรม ผ่านการประชุมในระบบ Google Meet ช่วงเช้ามีผู้เข้าร่วมประชุมจาก โรงเรียนเกาะสมุย ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษาผู้ปกครอง ช่วงบ่ายมีผู้เข้าร่วมประชุมจากชุมชนธนาคารปู ชุมชนจักสาน วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอกชน อาทิ นายกสมาคมท่องเที่ยวเอกชน ประธานธนาคารปู เยาวชน ผู้ปกครอง รวม ๑๗ คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนกึ่งสังคมเมือง ตั้งอยู่ในที่ราบซึ่งล้อมรอบด้วยภูเขา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลอ่าวไทย มีทั้งส่วนที่เป็นเกษตรกรรม อาชีพดั้งเดิมคือประมงท้องถิ่น เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวคุณภาพดีจำนวนมากสำหรับส่งออก ด้านการท่องเที่ยวเป็นสถานที่พักผ่อนเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ มีร้านค้า โรงแรม และสถานประกอบการต่าง ๆ มากมาย เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมของชาวพุทธและมุสลิม รายได้หลักของคนในชุมชนส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยวและการเกษตร การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลางจึงเน้นสอนเรื่องการสร้างอาชีพ มีการจัดรูปแบบห้องเรียนที่หลากหลาย นอกจากห้องเรียนวิทย์ - คณิต ยังมีห้องเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน พาณิชกรรม เกษตรกรรม ตามความสนใจของผู้เรียน ที่มุ่งสอนทั้งทักษะวิชาการและทักษะชีวิต 


การเชื่อมโยงเครือข่ายของคนในพื้นที่ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสถานประกอบการ โดยเชิญสถานประกอบการมาให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นทักษะจำเป็นในการประกอบอาชีพ เช่น การจัดครัว จัดห้องอาหาร จัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เด็กบางคนเมื่อจบการศึกษาก็ไปทำงานในสถานประกอบการ นอกจากนี้ ชุมชนยังให้ความสำคัญกับการปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพกรท้องถิ่นให้กับเยาวชน ปัจจุบันการท่องเที่ยวกระแสหลักซบเซาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงเร่งผลักดันการท่องเที่ยววิถีชุมชน ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้กลายเป็นจุดเด่น สู่ความหลากหลายในการท่องเที่ยว และเตรียมพร้อมผู้เรียนให้มีรู้ทางภาษา ซึ่งผู้ปกครองให้ความสำคัญเรื่องภาษาที่สาม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษกับภาษาจีน เพื่อให้เยาวชนพร้อมเป็นกำลังหลักในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ 
.
ด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เนื่องจาก เกาะสมุยเป็นชุมชนกึ่งสังคมเมือง เป้าหมายจะสร้างคนไทย ๔.๐ มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นหลัก สิ่งแวดล้อมในบ้านรอบตัวผู้เรียนจึงสำคัญ เช่น พืช สัตว์ ใกล้ตัว สามารถนำมาเป็นสื่อประกอบการเรียนรู้ของผู้เรียนได้แต่ในบางรายวิชาก็ยังจำเป็นต้องมีการลงมือปฏิบัติและเรียนในรูปแบบ on site ด้วย 

.



ผู้ร่วมประชุมยังเห็นว่าการเรียนการสอนควรเน้นเรื่องการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกรักบ้านเกิด ควรเร่งผลักดันการสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับทุกคนในชุมชน และจัดนิเวศการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการสร้างอัตลักษณ์ของชาวสมุย เน้นสร้างความรู้สึกร่วม การอนุรักษ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อยอดสู่การท่องเที่ยว ทำให้เกิดความยั่งยืน และสร้างคนให้มีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด