สกศ. ร่วมติดตามงาน ทีมนักวิจัยโครงการศึกษารูปแบบการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ๔.๐ กรณีศึกษา จังหวัดฉะเชิงเทรา

image

          วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ โดย นายสำเนา เนื้อทอง และคณะทำงาน ได้ติดตามการดำเนินงานเก็บข้อมูลเบื้องต้นของของทีมนักวิจัยโครงการศึกษารูปแบบการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ๔.๐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ๔.๐ ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาคนไทยให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่มีจุดเน้นใน ๓ ด้าน คือ ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยเก็บข้อมูลจากสถานศึกษาและชุมชนที่มีบริบทแตกต่าง เช่น ชุมชนเกษตรกรรม  ชุมชนอุตสาหกรรม และชุมชนการท่องเที่ยว 



การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูล กรณีศึกษา: จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีบริบทเป็นชุนชนเกษตรกรรมและชุมชนอุตสาหกรรม ผ่านการประชุมในระบบ Zoom โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งผู้นำชุมชน เช่น นายกเทศบาลมนตรีตำบลทุ่งสะเดา ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารสถานศึกษา เช่น ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านหนองปลาไหลราษฎร์บำรุง ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งสะเดาประชาสรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหัวสำโรง (ศรีราษฎร์บำรุง) ตลอดจนตัวแทนครู  ผู้ปกครอง และนักเรียน รวม ๒๐ คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
.
จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนด้านการเกษตร ผลผลิตที่โดดเด่น เช่น ขนุน มีจำนวนมากและสามารถส่งออก เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันของชาวพุทธและมุสลิม การพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชนเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตร จึงมีการติดต่อให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญหรือปราชญ์ด้านการเกษตรมาให้ความรู้ มีการรวมกลุ่มกัน มีตัวแทนเกษตรกรร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอ มีคนรุ่นใหม่ในชุมชนช่วยนำเทคโนโลยีมาสอน เช่น การเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ ผ่าน youtube การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน จัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยปรับเนื้อหาการสอนให้เข้ากับเด็กในแต่ละระดับ เช่น สอนการปักชำ ปลูกถั่วงอก ปลูกพืชผักสวนครัว มีการเรียนรู้เรื่องระบบสหกรณ์ ผลผลิตจากการเกษตรนำไปขาย ฝึกเรื่องทักษะอาชีพ เช่น เลี้ยงกบในวงยาง การแปรรูปผลผลิตการเกษตร นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ภาครัฐ และชุมชน เช่น โรงพยาบาลมาให้ความรู้เรื่องสุขภาพ เทศบาลสนับสนุนให้ความรู้เรื่องการต้านยาเสพติด มีการเปิดพื้นที่ถนนคนเดิน ที่เด็ก ๆ สามารถนำผลผลิตไปขายได้ ปัจจุบันมีการขยายตัวของอุตสาหกรรม มีโรงงานเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก แต่ก็มีความพยายามการเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับโรงงาน มีเครือข่ายในการประชุมอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้บริหารมีช่องทางสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน มีการพาเด็กไปทัศนศึกษาในโรงงาน เด็กบางคนเมื่อจบการศึกษาก็ไปทำงานในโรงงาน 
.
สำหรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้นั้น พบว่ายังมีความแตกต่างระหว่างในเมืองและชนบท เป้าหมายจะสร้างคนไทย ๔.๐ นั้น ยังเป็นเรื่องท้าทาย เพราะบริบทแต่ละที่แตกต่างกัน ความพร้อมแตกต่างกัน เช่น การสอนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา โรงเรียนยังประสบปัญหาว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีอินเทอร์เน็ตในชุมชน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงาน นักเรียนขาดที่ปรึกษา มีความเครียดและเรียนได้ไม่เต็มที่ นักเรียนอยากไปโรงเรียนมากกว่าเรียนออนไลน์ เช่นเดียวกับครูที่ต้องทุ่มเทมากขึ้น และใช้การสอนแบบ on hand โดยให้ใบงานเพื่อแก้ปัญหาเด็กส่วนใหญ่ไม่มีอินเทอร์เน็ต 

ผู้ร่วมประชุมยังเห็นว่าการเรียนการสอนควรเน้นเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมและจิตสำนึกรักบ้านเกิด ปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยี ความรู้เข้าถึงง่าย เด็กสามารถเรียนรู้ได้ แต่ความดีเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝัง ไม่อยากเห็นการเจริญเติบโตแต่ด้านวัตถุ ด้านจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแล รวมถึงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ถ้าผู้บริหารเข้าใจ คุณครูในโรงเรียนมีความสุข บรรยากาศการเรียนการสอนก็จะดีและเกิดการเรียนรู้ที่เต็มศักยภาพ 
.

การเก็บข้อมูลครั้งต่อไป จะเก็บข้อมูลในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านระบบ Zoom ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔  ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีบริบทเด่นในด้านชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนการท่องเที่ยว

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด