สกศ. ร่วมติดตามงาน นักวิจัย : ม.เกษตรศาสตร์ ในโครงการศึกษาเรียนรู้แนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย กรณี ครูบุญลือ เต้าแก้ว ครูภูมิปัญญาไทย ผู้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงเปลี่ยนชีวิต สู่ศูนย์เรียนรู้ครบวงจรสืบสานศาสตร์พระราชา ระดับจังหวัด

image

          วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ โดย นายสำเนา เนื้อทอง และคณะทำงาน ได้ติดตามการดำเนินงานเก็บข้อมูลเบื้องต้นของ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง  “แนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรมในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน”ซึ่งการศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) 

         การเก็บข้อมูลครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลครั้งที่ ๔ ภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นศูนย์สุดท้ายในการเก็บข้อมูล ๔ ภูมิภาค  สำหรับการเก็บข้อมูลวันนี้ สัมภาษณ์ ครูบุญลือ  เต้าแก้ว ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๕ ด้านเกษตรกรรม จังหวัดสระบุรี พร้อมเครือข่าย ผ่านการประชุมในระบบ Zoom 



             ครูบุญลือ เต้าแก้ว เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๕ ของ สกศ. ทั้งยังเป็นเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ เคยได้รับโล่พระราชทานดีเด่นโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ด้านไร่นาสวนผสม  เป็นหมอดินอาสาระดับจังหวัด และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งการประกวดแปลงไร่นาสวนผสมและเกษตรผสมผสาน  กว่าจะมีวันนี้ ครูเคยประสบปัญหาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ถึงแม้จะได้ผลผลิตมาก แต่กลับมีหนี้สินเพิ่มขึ้น จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อได้ศึกษา “ศาสตร์พระราชา” และได้น้อมนำมาใช้ จากทำนา ๒๐ ไร่ ปรับแบ่งเป็น ๔ ส่วนตามทฤษฎีใหม่ ขุดบ่อเก็บกักน้ำ ปลูกข้าว  ปลูกผักผลไม้ เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ การดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ครูสามารถปลดหนี้ มีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนละช่วยเหลือผู้อื่นจนเป็นต้นแบบของชุมชน  ครูเปิดบ้านเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรครบวงจร” ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการจัดการเรียนรู้  ๕ ฐานความรู้ คือ ๑) พออยู่  สอนการเพาะเห็ดในโรงเรือน เพาะถั่วงอกเป็นซุ้ม ฯลฯ ๒) พอใช้ สอนการทำปุ๋ยหมักบำรุงดิน ครูยังคิดค้นปุ๋ยอินทรีย์จากน้ำนมดิบที่ช่วยเพิ่มผลผลิต  และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตน้ำหมักชีวภาพขับไล่แมลงได้หลายสูตร ช่วยป้องกันศัตรูพืชและปลอดสารพิษ ๓) พอกิน ปลูกพืชที่กินประจำ โดยใช้ปุ๋ยที่ผลิตเอง ๔) พอร่มเงา ปลูกไม้ร่มเงา เช่น ไม้ไผ่  ไม้ใช้สอย เลี้ยงสัตว์ และ  ๕) ปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง สอนเรื่องการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้รู้รายรับ รายจ่าย  การลงทุนและการออม  ครูเน้นว่าหลักสำคัญที่จะประสบความสำเร็จ คือ การลงมือทำ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง  ครูไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ใช้ความรู้เป็นตัวตั้ง แนวคิดเป็นตัวขยาย ศูนย์ฯ ของครู นอกจากช่วยสอนให้ชุมชนมีความรู้ด้านการเกษตรแล้ว ครูยังใช้องค์ความรู้นี้ ช่วยบำบัดเด็กเยาวชนที่ติดยาเสพติดในชุมชนให้หันกลับมาประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

       นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้สัมภาษณ์เครือข่ายของครูบุญลือ และนักเรียน นักศึกษาที่ได้มีโอกาสมาเรียนรู้จากครู  ซึ่งต่างสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ได้เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ และเห็นความสำคัญของ “ศาสตร์พระราชา” ว่าคือ ทางรอดให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และภูมิใจที่จะเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด