สกศ. ร่วมติดตามงาน นักวิจัย : ม.เกษตรศาสตร์ ในโครงการศึกษาเรียนรู้แนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย กรณี ครูดอเล๊าะ สะตือบา ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ผู้ใช้เทคนิคใหม่ ปลูกสละอินโดได้ผลผลิตตลอดปี สุดยอดศูนย์เรียนรู้ภาคใต้ ดังไกลต่างประเทศ

image

          วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ โดย นายสำเนา เนื้อทอง และคณะทำงาน ได้ติดตามการดำเนินงานเก็บข้อมูลเบื้องต้นของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “แนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรมในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน” ซึ่งการศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) และเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นด้านการถ่ายทอดสืบสาน การพัฒนาต่อยอดอาชีพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
          ในการเก็บข้อมูลแบ่งเก็บข้อมูล ๔ ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้  ภาคกลางและตะวันออก การเก็บข้อมูลครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลครูในภาคใต้ซึ่งเป็นศูนย์ที่ ๓ จาก ๔ ศูนย์ โดย การสัมภาษณ์ครูดอเล๊าะ สะตือบา ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านเกษตรกรรม จังหวัดยะลา พร้อมเครือข่าย ผ่านการประชุมในระบบ Zoom  เนื่องจากข้อจำกัดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID -19) โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรอำเภอยะหา อำนวยความสะดวกให้ครูในการประชุม Zoom
 
 
          ครูดอเล๊าะ สะตือบา นอกจากได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านเกษตรกรรมของสกศ. แล้ว ยังเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม จังหวัดยะลา เป็น Smart farmer ผู้มีความโดดเด่นในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เช่น การปลูกสละอินโดด้วยเทคนิคการคัดแยกผสมเกสรและการใช้น้ำหมักนมสดผสมอีเอ็ม ส่งผลให้สละอินโดมีผลผลิตมาก รสชาติดี  หวาน กรอบ ติดผลตลอดทั้งปี มีการสั่งจองข้ามปี ครูยังมีชื่อเสียงในเรื่องของการปลูกทุเรียน สามารถปลูกทุเรียนให้มีผลผลิตได้เร็วขึ้น ครูน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ ครูยังเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ไข่  ปลาแรดบ่อดิน กวาง  ฯลฯ สินค้าของครูเป็นสินค้า OTOP ระดับจังหวัด ศูนย์การเรียนรู้ของครูนับเป็นศูนย์กลางความรู้ของภาคใต้ศูนย์หนึ่งที่มีชื่อเสียง เคยได้รับรางวัลองค์กรเกษตรดีเด่น “ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จังหวัดยะลา” มีผู้สนใจมาศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย มาศึกษาเรียนรู้จำนวนมาก 
 
 
 
          ทีมวิจัยยังได้สัมภาษณ์เครือข่ายของครูดอเล๊าะ รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่ได้มีโอกาสมาเรียนรู้จากครูซึ่งต่างสามารถนำความรู้ที่ครูสอนไปพัฒนาอาชีพ หรือเริ่มต้นอาชีพของตนได้ รวมถึงยังช่วยให้สามารถพึ่งพาตนเองปลูก ผักสวนครัว พืชสมุนไพรรับประทาน ทำให้รู้สึกภูมิใจในตนเองที่สามารถปลูกผักทานเองและสามารถแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงได้
.
          สำหรับการเก็บข้อมูลครั้งต่อไป เป็นการเก็บข้อมูลในศูนย์สุดท้าย จะสัมภาษณ์ครูบุญลือ เต้าแก้ว ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๕ จังหวัดสระบุรี ผู้เป็นเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ เป็นหมอดินอาสา ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งการประกวดไร่นาสวนผสมและเกษตรผสมผสานระดับจังหวัด
         

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด