สกศ. วางเกณฑ์ขึ้นทะเบียนรับรองหลักสูตร NQF ชง 8 สาขาอาชีพเร่งด่วนเป็นต้นแบบเรียนสอบจบครบที่เดียว
วันนี้ (1 กรกฎาคม 2564) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2564 โดยมี ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วยผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี ชั้น 3 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และผ่านการประชุมในรูปแบบ VDO Conference
ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายอย่างเข้มข้นถึง (ร่าง) หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและรับรองหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยพัฒนาเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ ยึดหลักหลักสูตร รายวิชา และเนื้อหาในรายวิชาต้องเชื่อมโยงกับระดับคุณวุฒิที่กำหนดในกรอบวุฒิแห่งชาติ รวมทั้งขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนซึ่งต้องแสดงหลักฐานและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานอาชีพอย่างชัดเจน
ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ประธานอนุกรรมการ ฯ กล่าวถึงความคาดหวังให้ 8 สาขาอาชีพจำเป็นเร่งด่วน คือ สาขาโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน สาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเซน สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สาขาปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน สาขาอาหาร สาขาเกษตร สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ และสาขาแม่พิมพ์/เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้นแบบของหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาได้รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อได้คุณวุฒิวิชาชีพเพียงครั้งเดียว เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนต้องได้รับการทดสอบจากหลายหน่วยงานเพื่อได้รับคุณวุฒิในการประกอบวิชาชีพ
สกศ. รายงาน (ร่าง) แผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรมที่ดำเนินงานควบคู่กัน เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้เชื่อมโยงหลักสูตรมาตรฐานอาชีพใน 8 สาขาอาชีพจำเป็นเร่งด่วน คือ 1) จัดทำแนวทางการพัฒนาระบบการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้และประสบการณ์การทำงานในรูปแบบระบบแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ไปสู่การปฏิบัติและติดตามประเมินผล 2) พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ 3) เทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) นำไปสู่การทดลองเชื่อมโยงคุณวุฒิของประเทศไทยกับประเทศอาเซียน 4) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนงานร่วมกับคณะทำงานพัฒนากฎหมาย เพื่อปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องต่อไป