ทีมผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา ถกเข้มเฟ้นนิยามแววความสามารถพิเศษของเด็กปฐมวัย
วันนี้ (๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมปรึกษาหารือผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณา #เครื่องมือคัดกรองและวินิจฉัยเด็กปฐมวัย ในการหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส ด้านเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted) ครั้งที่ ๓ โดยมี รองศาสตราจารย์อรุณี วิริยะจิตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เป็นประธาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ด้านการวิจัยพัฒนาเครื่องมือวัดแวว และด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย อาคาร ๒ ชั้น ๕ สกศ.
การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณานิยามและตรวจสอบข้อความของ (ร่าง) แบบวัดแววความสามารถสำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งแบ่งเป็น ๙ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านการเรียนรู้ ๒) ด้านภาษา ๓) ด้านคณิตศาสตร์ ๔) ด้านวิทยาศาสตร์ ๕) ด้านเครื่องกล ๖) อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี ๗) ด้านศิลปะ/มิติสัมพันธ์ ๘) ด้านการได้ยิน และ ๙) ด้านอารมณ์และสังคม
เบื้องต้นที่ประชุมร่วมกันนิยามแววความสามารถพิเศษของเด็กปฐมวัย อันเป็นคุณลักษณะที่แสดงออกให้เห็นถึงพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะพัฒนาความสามารถได้ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเรียนรู้ โดยมีความสามารถในการสังเกตรายละเอียด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการมีความจำที่ดีและจินตนาการของเด็ก รวมถึงด้านคณิตศาสตร์ จากทักษะที่เด็กสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ของจำนวน ตัวเลข สัญลักษณ์ และคิดคำนวณได้อย่างมีเหตุผล
ทั้งนี้ สกศ. มุ่งมั่นที่จะพัฒนา (ร่าง) แบบวัดแววดังกล่าว เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการช่วยเหลือครูและผู้ปกครองในการคัดกรองบุตรหลานที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาสมรรถนะทั้งทางร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์แข็งแรงต่อไป