สภาการศึกษา ศึกษาโจทย์ท้าทายใหม่โรงเรียนห่างไกลกลางทะเล นำฐาน Big Data แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-เหลื่อมล้ำการศึกษาทุกมิติ

image

                    วันนี้ (๒ มีนาคม ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ ฯ กกส.) ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔  โดยมี ศาสตราจารย์ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ เป็นประธาน ฯ ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นายสำเนา เนื้อทอง) ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ผู้แทนจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ.

                    ที่ประชุมเตรียมลงพื้นที่ระดมความคิดเห็น เรื่องการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต่อจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย) และภาคเหนือ (จังหวัดน่าน) ซึ่งเน้นสถานศึกษาพื้นที่ห่างไกลชายขอบ และพื้นที่บนเกาะกลางทะเล อำเภออ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ เพื่อศึกษาวิธีการจัดการเรียนการสอน โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไป

                    ทั้งนี้ การประชุมที่ผ่านมา คณะอนุ ฯ กกส. ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้รับทราบรายงานการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของ ๒ หน่วยงานหลัก ดังนี้ ๑) ข้อมูลระบบสวัสดิการแห่งรัฐ จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และ ๒) ข้อมูลนักเรียนยากจนที่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แต่ยังมีข้อจำกัดของความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ที่ประชุมจึงสรุปแนวความคิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มจากการ “แก้ปัญหาความยากจน” เป็นอันดับแรก

                     ศาสตราจารย์ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ประธานอนุกรรมการ ฯ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้เห็นถึงข้อมูลทุกมิติที่สามารถนำมาคาดการณ์ และวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ดังนี้

สภาพัฒน์ รายงานข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) พบว่า ระบบดังกล่าวเข้ามาช่วยให้ทราบจำนวนผู้ยากจนในประเทศ จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่สอดคล้องกับเลขประชาชน ๑๓ หลักของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก่อนนำมาคัดแยกบุคคลด้วย ๓๑ ตัวชี้วัด โดยผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเบื้องต้นคือผู้ว่าราชการจังหวัดและศึกษาธิการจังหวัด ทำให้สามารถระบุผู้ยากจนได้ในระดับตำบล ปัจจุบันมีฐานข้อมูลตัวเลขปี ๒๕๖๐-๒๕๖๓ เผยแพร่ทาง www.tpmap.in.th

                   จากนั้น สทศ. รายงานข้อมูลผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) พบว่า มีข้อมูลผลการทดสอบทางการศึกษา ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘-๒๕๖๒ แสดงค่าสถิติพื้นฐานรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา จำแนกเป็นระดับชั้น รายปี รายจังหวัด ที่แสดงผลคะแนนเฉลี่ยสูงสุดและต่ำสุด เพื่อวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เผยแพร่สถิติผลการทดสอบย้อนหลังทาง www.niets.or.th

                     ด้าน นายอัครนัย ขวัญอยู่ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อถึงผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลโครงการทดสอบนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาว่า เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า ๘,๐๐๐ คน ผ่านการทำแบบสอบถามในด้านข้อมูลทั่วไป ได้แก่ นักเรียน โรงเรียน และคะแนนสอบวัดทักษะทางวิชาการ ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทำให้เห็นถึงข้อมูลมิติอื่น ๆ นอกจากด้านเศรษฐกิจและรายได้ เช่น ทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อโลก สิ่งแวดล้อมภายในห้องเรียน พ่อแม่สร้างความสัมพันธ์โดยการส่งเสริมให้นักเรียนมีความมั่นใจหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผลการวิเคราะห์ได้ทาง www.oecd.org/pisa

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด