สกศ. จัดประชุดนัดพิเศษรวมทีมผู้ทรงคุณวุฒิ เฟ้นหาเกณฑ์พิจารณาเครื่องมือวัดแววความสามารถพิเศษของเด็กปฐมวัย
วันนี้ (๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมปรึกษาหารือผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาเครื่องมือคัดกรองและวินิจฉัยเด็กปฐมวัยในการหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส ด้านเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted) ครั้งที่ ๒ โดยมี รองศาสตราจารย์อรุณี วิริยะจิตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เป็นประธาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และด้านการวิจัยพัฒนาเครื่องมือวัดแวว ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สกศ.
การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีหน้าที่ดำเนินการตาม (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๗๐ โดยมีเป้าประสงค์ที่ ๓ คือ ให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการสำรวจ คัดกรอง และวินิจฉัยเพื่อหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาสเพื่อสามารถรับบริการด้านต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของระบบเครื่องมือและบุคลากรในกรณีดังกล่าว ที่ประชุมจึงได้หารือถึงการสร้างแบบประเมินความสามารถของเด็กปฐมวัยขั้นต้น เพื่อวัดแววความสามารถของเด็กปฐมวัยในแต่ละด้าน ก่อนที่จะนำไปประเมินความสามารถเฉพาะด้านต่อไป
เบื้องต้น มีการพิจารณาคำนิยามและคุณลักษณะของแววความสามารถพิเศษของเด็กปฐมวัย (อายุ ๐ - ๖ ขวบ) โดยแบ่งเป็น ๙ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านการเรียนรู้ ๒) ด้านภาษา ๓) ด้านคณิตศาสตร์ ๔) ด้านวิทยาศาสตร์ ๕) ด้านเครื่องกล ๖) อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี ๗) ด้านศิลปะ/มิติสัมพันธ์ ๘) ด้านการได้ยิน และ ๙) ด้านอารมณ์และสังคม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันนิยาม “ความสามารถพิเศษของเด็กปฐมวัย” ซึ่งหมายถึง คุณลักษณะของเด็กระหว่าง ๐ - ๖ ขวบ ที่แสดงออกให้เห็นถึงพฤติกรรมทั้งภายใน (ความคิด ความรู้สึก) และภายนอก (การกระทำ) ว่ามีแววทำอะไรได้ พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะพัฒนาความสามารถได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุเดียวกัน และมีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกัน โดยจะมีการนำผลพิจารณาดังกล่าวไปจัดทำ (ร่าง) แบบวัดแววความสามารถพิเศษสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพ และจัดทำเป็นแบบวัดแววมาตรฐานพร้อมหาเกณฑ์ปกติในขั้นต่อไป