ยกขั้น ‘ถลางโมเดล’ ผลักดันสำเร็จ สาขาช่างอากาศยานระดับ ATO อนุ ฯ NQF เร่งวางคอร์สมาตรฐานต่อยอดกำลังคนเพิ่มทั้ง 7 สาขาอาชีพ

image

 

 

          วันนี้ (๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ โดยมีนายถาวร ชลัษเฐียร  เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ ร่วมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (นายนพดล ปิยะตระภูมิ) ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย (นางวัลภา สถิรชวาล) ผู้แทนสำนักบริหารคุณวุฒิวิชาชีพ (นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์) ผู้แทนภาคเอกชนในสาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (นายกฤษดา เกรียงศักดิ์พงศ์) พร้อมด้วยคณะทำงาน เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร  ๕๖ ปี สกศ.

 

 

 

          สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ฯ รายงาน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๕ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยจะดำเนินการร่วมกับคณะทำงานเพื่อทบทวนแผนปฏิบัติการ ฯ และพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

 

 

          ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายความก้าวหน้าในการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการของคณะทำงานขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาอาชีพจำเป็นเร่งด่วน ๘ คณะ สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

          ๑) สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ดำเนินการเพิ่มเติม ๓ หลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้น ดังนี้ (๑) นักวิเคราะห์ความต้องการทางธุรกิจ (Business Analyst) (๒) นักวิเคราะห์ออกแบบระบบ (System Analyst) (๓) หลักสูตร AI พร้อมปรับแผนการดำเนินงาน ๓ ปี (๒๕๖๔-๒๕๖๖) ภายใต้กรอบงบประมาณเดิม ซึ่งมีสาขาที่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น หลักสูตรช่างโครงข่ายปลายทางด้านเครือข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) สามารถผลิตกำลังคนได้ ๕๐๐ คน ดำเนินการฝึกอบรมโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

 

          นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานอนุ ฯ กรรมการ กล่าวเสริมถึงแผนการทำงาน (Timeline) ควรให้แต่ละคณะทำงานระบุรายละเอียดช่วงเวลาเริ่มจัดทำการสอนหลักสูตรระยะสั้นเมื่อใด การจัดหางบประมาณดำเนินการอย่างไร กำหนดสถาบันการฝึกอบรมนำร่องที่ใด และผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร รายงานให้คณะทำงานทราบถึงความก้าวหน้าหรือปัญหาที่พบ เพื่อกำกับติดตามและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและสามารถขับเคลื่อนงานตามแผนต่อไปได้

 

      

          ๒) สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน วางแผนการคัดเลือกหลักสูตรการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยของระบบขนส่งทางรางและให้การรับรอง ๓ หลักสูตร ดังนี้ (๑) อาชีพช่างเทคนิคซ่อมบำรุงทางรถไฟฟ้า (๒) อาชีพช่างเทคนิคซ่อมบำรุงโครงสร้างรองรับทางรถไฟ (๓) อาชีพช่างเทคนิคซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีและโทรคมนาคม ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔

          ๓) สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ทบทวนและยกร่างหลักสูตรพัฒนาครู หลักสูตร Demand planer โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ในสาขาอาชีพนักวางแผนอุปสงค์ระดับบริหารต้น ๖ และนักวางแผนอุปสงค์ระดับผู้บริหารสูง ระดับ ๗ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕

          ๔) สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วางแผนพัฒนาหลักสูตรระดับ ปวส. โดยทำหลักสูตรสาขาวิชา “หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม” ระดับปริญญาตรี จัดทำหลักสูตรสาขาวิชา “Robotics and Automation System Engineering” โดยเริ่มขยายผลการพัฒนาผู้สอน ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕

          ๕) สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน กำหนดประชุมหารือร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีรายวิชาเกี่ยวข้องกับก๊าซชีวภาพ (Biogas) ชีวมวล (Biomass) โรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะ เพื่อพิจารณายกร่างหลักสูตรและกำหนด Demand-Supply ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

          ๖) สาขาอาชีพอาหาร ทบทวนหลักสูตรที่จะคัดเลือกมาอบรมระยะสั้น เช่น หลักสูตรผู้ประกอบการอาหาร (Smart Food fot SME) หลักสูตรนักนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Innovation Development) และกำหนดวิทยาลัยนำร่องเบื้องต้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับสาขาอาชีพเกษตรได้สรุปอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน คือ กลุ่มอาชีพโคนมและกลุ่มอาชีพข้าว ก่อนนำไปทบทวนจัดทำหลักสูตรอบรมระยะสั้น โดยกำหนดพื้นที่วิทยาลัยนำร่องเบื้องต้นในจังหวัดลพบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดพิจิตร

 

 

          ๗) สาขาอาชีพแม่พิมพ์และเครื่องมือการแพทย์ วางแผนพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง (Consortium Curriculum) ในช่วงกรกฎาคม-กันยายน ๒๕๖๔ และขยายผลการฝึกอบรมให้บุคลากรผู้สอนในช่วงมีนาคม ๒๕๖๕

          และ ๘) สาขาอาชีพช่างอากาศยาน หลังจากที่วิทยาลัยเทคนิคถลางได้รับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization : ATO) จากสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ทำให้คณะทำงานวางแผนผลักดันให้วิทยาลัยอื่น ๆ เช่น วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง และวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ได้รับการรับรองทันเปิดเทอมในช่วงพฤษภาคม ๒๕๖๔

 

 

          นายถาวร ชลัษเฐียร กล่าวต่อถึงความคาดหวังให้แต่ละคณะทำงานบูรณาการหลักสูตรร่วมกับสาขาอาชีพอื่น ๆ หากสาขาใดที่ต้องการเรียนข้ามสาย เช่น ผู้เรียนโลจิสติกส์ต้องมีทักษะเรียนรู้ด้านดิจิทัลหรือโครงสร้างพื้นฐาน ควรจัดให้มีเวทีการรับฟังความคิดเห็นร่วมกันทุกคณะทำงานในการประชุมครั้งถัดไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าและข้อเสนอแนะของการดำเนินงานทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในต้นเดือนมีนาคม ๒๕๖๔

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด