สกศ. ผลักดันแนวคิดเลข ๑๓ หลัก เชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิ สร้างฐานข้อมูลระดับชาติ

image

 

 

          วันนี้ (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูล ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ เป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปราย อาทิ ที่ปรึกษาคณะทำงาน (ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (นายมานะชัย บุญเอก) ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (นายขจรศักดิ์ จิตอารีเสถียร) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายอาคม ศาณศิลปิน) ธนาคารแห่งประเทศไทย (นายนครินทร์ อมเรศ) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สกศ.

 

 

 

          ที่ประชุมรับฟังความก้าวหน้าของการดำเนินงานเชื่อมโยงของคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้ง ๔ คณะ ซึ่งคณะอนุกรรมการ ฯ ได้รับมอบหมายให้จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษา เป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับบูรณาการข้อมูล ภายใต้แนวคิดการสร้างระบบที่ตอบโจทย์การมีงานทำ เพื่อนำไปเชื่อมโยงระบบการเทียบโอนคุณวุฒิในการจับคู่งานกับทักษะหรือสมรรถนะที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพ รวมทั้งกำหนดทิศทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ และความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลก

 

 

 

          จากนั้นที่ประชุมร่วมกันอภิปรายประเด็นการจัดเก็บข้อมูลเลขบัตรประชาชน ๑๓ หลักจากฐานข้อมูลของ ๔ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (ฐานข้อมูล SSO) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ฐานข้อมูล MOE) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฐานข้อมูล MHESI) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (ฐานข้อมูล TPQI) ซึ่งที่ประชุมตั้งข้อสังเกตเรื่องการอัปเดตของข้อมูล เนื่องจากแต่ละหน่วยงานกำหนดระยะเวลานำเข้าข้อมูลที่ต่างกัน เช่น รายเดือน รายปี หรือรายการศึกษา จึงเสนอให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) (Digital Government Development Agency (Public Organization) : DGA) เป็นผู้เข้าถึงข้อมูลจากทุกหน่วยงานข้างต้น เพื่อเชื่อมโยงและกำจัดความซ้ำซ้อนของข้อมูลได้

 

 

 

          นอกจากนี้ มีการเสนอให้ทบทวนภาพรวมของการผลิตกำลังคน หรือหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศ โดยยึดจากสมรรถนะของแรงงานที่ผู้ประกอบการจ้างงานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำสมรรถนะเหล่านั้นบรรจุในรูปแบบการเรียนการสอนให้รองรับความต้องการของภาคแรงงาน ภายหลังการพิจารณา สกศ. จะดำเนินการขอเข้าถึงและเชื่อมโยงข้อมูล และดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด