สภาการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำย้ำแก้ปมงบประมาณ ชูไอเดียแยกจ่าย “ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า” ลดภาระโรงเรียน จัดการสอนเต็มประสิทธิภาพ

image

วันนี้ (๒๕ มกราคม ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ ฯ กกส.) ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔  โดยมี ศาสตราจารย์ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ เป็นประธาน ฯ ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นายสำเนา เนื้อทอง) ผู้แทนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผู้แทนจากสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. 

 

 

การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาแนวทางการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรื่อง “ร่างข้อเสนอระบบงบประมาณการศึกษาเพื่อความเสมอภาค” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อนุกรรมการ นำเสนอถึงปัญหาการบริหารงบประมาณในสถานศึกษาต่าง ๆ เช่น กรณีโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวตามจำนวนนักเรียน ทำให้ขาดงบประมาณขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ กรณีการบริหารงบประมาณด้านบุคลากร ซึ่งในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีรายจ่ายด้านบุคลากรมากถึงร้อยละ ๘๐ เนื่องจากมีบุคลากรจำนวนมากกว่า ๕ แสนคน แต่ยังพบปัญหา การขาดแคลนครูในถิ่นห่างไกล หรือขาดครูที่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน รวมถึงกรณีโรงเรียนเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐประมาณร้อยละ ๗๐ ทำให้โรงเรียนเอกชนบางส่วนไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากภาครัฐยังมีสวัสดิการเพิ่มเติมและความมั่นคงในอาชีพมากกว่าจึงอาจทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งต้องปิดกิจการไป ทั้งที่ต้นทุนต่อหัวสำหรับจัดการศึกษาโดยภาคเอกชนหลายแห่งถูกกว่าต้นทุนของรัฐ 

 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงปัญหาดังกล่าว และเสนอแนวทางสนับสนุนด้านการเงินและงบประมาณ สำหรับสถานศึกษาที่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สามัญศึกษา–ในระบบ) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

๑) สนับสนุนต่างรูปแบบ/อัตรา เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือเด็กทุกคนต้องได้เรียน อ่านออกเขียนได้ โดยคำนึงถึงการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาด้วยการปรับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน การลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ และการพัฒนาคุณภาพโดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน 

 

๒) ปรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับโรงเรียน โดยให้อัตราที่ต่างกันตามขนาดและสภาพพื้นที่ เสนอให้ปรับค่าจัดการเรียนการสอนและค่าจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามค่าใช้จ่ายจริงของโรงเรียนศักยภาพสูง และเสนอให้แยกค่าสาธารณูปโภคออกจากค่าจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สถานศึกษาบริหารงบประมาณสำหรับพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ 

 

 

๓) จัดสรรเงินอุดหนุนตามความจำเป็นส่วนเพิ่มสำหรับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล (Stand Alone) ให้สอดคล้องกับขนาดและบริบทพื้นที่ เนื่องจากโรงเรียน Stand Alone ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง และบางแห่งค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการจ้างครูผู้ช่วยดูแลเป็นการเฉพาะ เพื่อดูแลผู้เรียนพักนอน หรือผู้เรียนที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้

 


เบื้องต้น สกศ. และคณะอนุ ฯ กกส. ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะสรุปแนวทางดังกล่าวไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการศึกษาในบริบทต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เพิ่มความคล่องตัวเพื่อรองรับความหลากหลายทางการศึกษา ทั้งบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล โดยเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และ กสศ. เพื่อแสวงหาประเด็นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) นำไปใช้ในการวางแผนและการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป 

 

 

***********************************
ติดตามข่าวสารได้ที่

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด