สกศ. เชื่อมโยง NQF เทียบโอน Credit Bank ดันคอร์ส E - Commerce ปั้นนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

image

วันนี้ (๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมการศึกษาเพื่อสร้างโมเดลนำร่องการเทียบโอน/เทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษา และสมรรถนะทางอาชีพตามกรอบการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิ สาขาอาชีพดิจิทัล : อาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) โดยมี ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม เป็นประธานการประชุม ฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ระบบการเรียนออนไลน์ Thai MOOC และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สกศ. 

ที่ประชุมได้หารือถึงการจัดทำมาตรฐานอาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ระดับ ๓ และการพัฒนาสาขาอาชีพดิจิทัล : อาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ สาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของการศึกษานำร่องการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และเป็นอาชีพที่มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพในเบื้องต้นแล้ว 

รองศาสตราจารย์ ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และผู้ทรงคุณวุฒิจากวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ได้นำเสนอ (ร่าง) หลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์อาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ระดับ ๔ (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง - ปวส.) ซึ่งออกแบบเป็น ๒ ประเภทหลัก ได้แก่ ๑) การเรียนรู้ตามความต้องการของตนเอง ผ่านระบบ On-demand Training เพื่อสร้างและพัฒนาทักษะของตน (New-Skills, Up-Skills, Re- Skills) ๒) การเรียนรู้เพื่อนำไปเทียบโอน/เทียบเคียง และสะสมสู่ระบบสมรรถนะวิชาชีพ และระบบคุณวุฒิการศึกษา 

สำหรับ (ร่าง) หลักสูตรดังกล่าวเปิดให้ผู้เรียนเลือกกลุ่มสมรรถนะวิชาชีพเลือกของสาขางานธุรกิจ E-Commerce ได้ไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต ใน ๕ รายวิชา เช่น การจัดการเนื้อหาสำหรับธุรกิจดิจิทัล โปรแกรมกราฟิกสำหรับการออกแบบเว็บไซต์ และการพาณิชย์บนสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงมีแนวคิดจัดทำชุดการเรียน (Module) เพื่อให้สะดวกกับการเทียบโอน/เทียบเคียง ตามระบบธนาคารหน่วยกิต 

ที่ประชุมเสนอแนวคิดเพิ่มเติมให้ควรเชื่อมโยง (ร่าง) หลักสูตรดังกล่าวกับมาตรฐานอาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เพื่อเมื่อศึกษาจบผู้เรียนสามารถนำไปผลการศึกษาไปเทียบโอน/เทียบเคียงได้ และเพื่อให้ระบบเทียบโอน/เทียบเคียงเป็นไปอย่างราบรื่นทั้งระบบ ควรมีการพัฒนาผู้สอน และปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบโมดูลให้สอดคล้องกับการประเมิน (UoC) ที่ใช้ประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ และการประกันคุณภาพของสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานเอกชน เพื่อรับฟังความต้องการด้านสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษาที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เพื่อพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด