อนุ ฯ กกส. เปิดผลวิจัยนโยบายพลิกโฉมการเรียนรู้ของโลกอนาคตปี ๒๐๔๐ พร้อมหารือกรมสรรพากร บูรณาการระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation) กับการลดหย่อนภาษีจากการบริจาคด้านการศึกษา
วันนี้ (๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ ฯ กกส.) ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ ครั้งที่ ๕/๒๕๖๓ โดยมี นายกิตติรัตน์ มังคละคีรี เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (นางพิจารณา ศิริชานนท์) คณะอนุ ฯ กกส. ผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ผู้แทนจากเทศบาลนครภูเก็ต และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ.
ที่ประชุมได้นำประเด็นสืบเนื่องในเรื่อง “สิทธิประโยชน์ทางภาษีของเอกชนในการบริจาคที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เพื่อสนับสนุนการศึกษา กรณีสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)” ซึ่งขณะนี้สถานศึกษา อปท. ยังไม่ได้รับการบรรจุไว้ในรายชื่อตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทำให้ผู้บริจาคยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้แทนจากกรมสรรพากรได้แจ้งว่า สถานศึกษาสามารถแจ้งชื่อกับกรมสรรพากรผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation) เพื่อให้ผู้บริจาคสามารถลดหย่อนภาษี ๒ เท่า ตามประมวลรัษฎาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๑๓) พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยระบบดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย เข้าถึงได้สะดวก และสร้างความโปร่งใสด้านการเงินให้กับทุกฝ่าย ที่ประชุมจึงมีมติให้คณะอนุ ฯ กกส. และกรมสรรพากร ร่วมกันศึกษาประเด็นดังกล่าวอย่างละเอียด และจัดทำแนวทางการบริจาคเงินเพื่อการศึกษาผ่านระบบ E-Donation แก่ทุกสถานศึกษา (สถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาเอกชน รวมถึงสถาบันอุดมศึกษา)เสนอต่อที่ประชุมกรรมการสภาการศึกษา เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นนโยบายระดับชาติ ที่ช่วยดึงให้ทุกภาคส่วนได้พัฒนาการศึกษาร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนองานวิจัยเรื่อง การออกแบบนโยบายการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตในปี ๒๐๔๐ โดยมีวิสัยทัศน์คือ “ระบบการศึกษาไทย เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้เรียนให้มีความสุขอย่างมีคุณค่า สามารถสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจใหม่ที่พึงประสงค์” ซึ่งมีแนวคิดพัฒนาเป็นนโยบายที่สนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นเจ้าของนโยบาย (Policy Owner) ที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ส่วนกลางสั่งการไปยังเขตพื้นที่การศึกษาหรือจังหวัด แต่สถานศึกษาสามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้เอง รวมทั้งสามารถพัฒนา ปรับปรุง และสร้างสรรค์นโยบายพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ใหม่ได้เองอย่างต่อเนื่องตามบริบทของผู้เรียนและสถานศึกษา
ทั้งนี้ คณะอนุ ฯ กกส. เตรียมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึก กรณีความสำเร็จในการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเทศบาลนครภูเก็ตประสบความสำเร็จในการใช้ระบบ Q-Info สู่พิมพ์เขียวทางการศึกษา (Blueprint) ที่สามารถช่วยติดตามเด็กนักเรียนได้เป็นรายบุคคล ทำให้ทราบการเข้าเรียน ผลการเรียน และช่วยติดตามเด็กที่ตกหล่นจากการศึกษา ทำให้บูรณาการส่วนงานต่าง ๆ ได้ รวมถึงจะติดตามการบริหารจัดการอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK Park)และเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ณ ห้องสมุดประชาชน เทศบาลนครภูเก็ต เพื่อนำมาพัฒนาการศึกษาของไทยต่อไป