สกศ. ประชุมคณะทำงานเด็กปฐมวัย วิเคราะห์นิยาม-เครื่องมือคัดกรองเฝ้าระวังความบกพร่องด้านอารมณ์และสังคม

image

         

          วันนี้ (๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดการประชุมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาเครื่องมือคัดกรองและวินิจฉัยเด็กปฐมวัยในการหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส ด้านความบกพร่องทางด้านอารมณ์และสังคม ได้รับเกียรติจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ดร.แสงเดือน ยอดอัญมณีวงศ์) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์) และนักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ (อาจารย์ดรณี จันทร์หล้า) พร้อมด้วยผู้แทนจากสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นเข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สกศ.

 

 

 

          รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กล่าวถึงการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ว่าต้องการปรับปรุงระบบการคัดกรองเด็กปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อค้นหาและเฝ้าระวังเด็กปฐมวัยที่มีภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาสตั้งแต่เบื้องต้น ให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย โดยกระบวนดังกล่าวนั้น ควรใช้ง่ายและแม่นยำ เพื่อลดภาระงานของบุคลากรการแพทย์ รวมทั้งผู้ปกครองก็ยังสามารถใช้เครื่องมือเพื่อประเมินพัฒนาการของลูกได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมหารือเครื่องมือคัดกรองเด็กปฐมวัย ด้านความบกพร่องทางด้านร่างกาย ได้นำคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual : DSPM) จากกระทรวงสาธารณสุข เป็นเกณฑ์หลักในการวัดผลพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ซึ่งมีการคัดกรองด้านที่เกี่ยวกับอารมณ์และสังคม แต่ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ เรื่องการประเมินแบบคัดกรองที่ยังขาดความคิดเห็นจากผู้ใช้งาน จึงต้องสำรวจและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

 

 

          จากนั้น ดร.แสงเดือน ยอดอัญมณีวงศ์ ให้ข้อมูลนิยามของเด็กปฐมวัยที่มีความบกพร่องด้านอารมณ์และสังคม จากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๒ ว่า เป็นบุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ บุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากปกติเป็นอย่างมาก และปัญหาทางพฤติกรรมนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์หรือความคิด เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนิยามอื่น ๆ อาทิ บุคคลที่มีพฤติกรรมความบกพร่องจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู พฤติกรรมความบกพร่องที่แตกต่างจากเด็กวัยเดียวกัน หรือข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้ที่ประชุมระดมความคิดเห็น ก่อนเริ่มทบทวน (Screen) เครื่องมือคัดกรองวัดผลพัฒนาการเด็กปฐมวัย และนำไปสู่ขั้นตอนการวินิจฉัย (Diagnose) ให้เหมาะสมตรงตามนิยามข้างต้น เพื่อลดข้อผิดพลาดในการคัดกรอง

 

 

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือจะดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็นร่วมกับคณะทำงานด้านอื่น ๆ อีก ๓ คณะ ที่พิจารณาด้านความบกพร่องด้านร่างกาย ด้านเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted) และด้านความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธานพิจารณาต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด