สกศ. หารือกับผู้เชี่ยวชาญเด็กปฐมวัย เตรียมเครื่องมือคัดกรองเด็กด้อยโอกาส ด้านความบกพร่องทางร่างกาย

image

 

 

          วันนี้ (๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาเครื่องมือคัดกรองและวินิจฉัยเด็กปฐมวัยในการหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส ด้านความบกพร่องทางด้านร่างกาย โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางสาวจันทิมา ศุภรพงศ์) และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย อาคาร ๒ ชั้น ๕ สกศ.

 

 

          แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ กล่าวว่า เครื่องมือการคัดกรองและวินิจฉัยเด็กปฐมวัยที่ผ่านมา มีแบบประเมินพัฒนาการเบื้องต้นของเด็กปฐมวัย สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เรียกว่า อนามัย ๔๙ ซึ่งได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๕๕ กรมอนามัยเห็นควรพัฒนาและปรับปรุงอนามัย ๔๙ ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น จึงเพิ่มช่วงอายุการทดสอบ เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ และปรับเปลี่ยนชื่อเป็นแบบคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (อนามัย ๕๕) และถูกพัฒนาอีกครั้ง ให้เป็นการประเมินและแก้ไขพัฒนาการเด็กแรกเกิดจนถึง ๕ ปี เรียกว่า Thai Developmental Skill Inventory (TDSI-๗๐) ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual : DSPM)

 

 

         

          จากนั้นที่ประชุมร่วมกันหารืออย่างกว้างถึงการนำคู่มือดังกล่าว มาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการคัดกรองและวินิจฉัยเด็กปฐมวัยในการหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส ซึ่งวัดผลพัฒนาการเด็กแรกเกิด จนถึง ๖ ปี โดยคัดกรองพัฒนาการจำนวน ๕ ด้าน ดังนี้ ๑) ด้านการเคลื่อนไหว (Gross Motor : GM) ๒) ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา (Fine Motor : FM) ๓) ด้านการเข้าใจภาษา (Receptive Language : RL) ๔) ด้านการใช้ภาษา (Expressive Language : EL) และ ๕) ด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม (Personal and Social : PS)

 

          ด้าน รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ร่วมตั้งข้อสังเกตถึงผลลัพธ์ของคู่มือดังกล่าวว่า ควรพัฒนาให้ครอบคลุมการวัดผลพัฒนาการของเด็กปฐมวัยให้ครบทุกด้าน และเพิ่มเติมประเด็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเด็กปฐมวัย การจดจำข้อมูลพื้นฐานของพ่อแม่ เบอร์โทรศัพท์ สำหรับการขอความช่วยเหลือต่าง ๆ รวมถึงความพึงพอใจจากผู้ใช้งาน อาทิ เจ้าหน้าที่ในระดับสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และพ่อแม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายแต่มีคุณภาพที่สมบูรณ์ ภายหลังการหารือข้อคิดเห็นทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธานพิจารณาต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด