สกศ. วิจัยนำร่องการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สาขาอาชีพ E-Commerce
เมื่อวันที่ (๙ ธันวาคม ๒๕๖๓) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ)เป็นประธานการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์มาตรฐานอาชีพ เพื่อพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย สกศ.
ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของ “โครงการศึกษาวิจัยต้นแบบการพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF)” เพื่อรองรับการเทียบโอน และการสะสมผลการเรียนรู้และประสบการณ์ รวมถึงการรับรองคุณวุฒิในสาขาอาชีพนำร่องนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยงานภาคการศึกษา ภาคแรงงาน และภาคเอกชนด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thai-MOOC) เป็นต้น
โครงการวิจัยนำร่องนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนของประเทศในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๕ ให้เป็นรูปธรรม โดยได้คัดเลือกสาขาอาชีพดิจิทัล อาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ซึ่งเป็นอาชีพที่สอดรับและตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะช่วยพัฒนากำลังคนและสร้างมูลค่าเพิ่มของรายได้ โดยดำเนินการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัจจัยท้าทายในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทยด้วยระบบคุณวุฒิ วิเคราะห์มาตรฐานอาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในระดับคุณวุฒิ ๓ – ๖ เทียบได้กับคุณวุฒิการศึกษาในระดับ ปวช. จนถึงปริญญาตรี รวมถึงกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในระดับคุณวุฒิที่ ๓ – ๖ ซึ่งครอบคลุมคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงการออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์ในรูปแบบของ Thai MOOC ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มของสังคมโลก พร้อมทั้งนำเสนอระบบ/รูปแบบการเทียบโอนหน่วยกิต/ประสบการณ์ของกำลังคนอาชีพนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)
การดำเนินการโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนในภาคการศึกษาและตลาดแรงงานด้วยระบบการเทียบโอนหน่วยกิตและการรับรองประสบการณ์การทำงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบคุณวุฒิในประเทศไทย รวมถึงได้ต้นแบบ (prototype) การพัฒนากำลังคนตามหลักการของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ซึ่งจะสามารถขยายผลรูปแบบการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์และรองรับการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต