สกศ.ประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ ฯ กกส.) ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ ๕/๒๕๖๓
เมื่อวันที่ (๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) ศาสตราจารย์กิตติคุณชนิตา รักษ์พลเมือง เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ ฯ กกส.) ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ ๕/๒๕๖๓ โดยมี ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นายสวัสดิ์ ภู่ทอง) พร้อมด้วยคณะทำงาน เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ที่ประชุมร่วมรับฟังความก้าวหน้าการยกร่างข้อเสนอการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา โดยย้ำภาพรวมระบบการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครูของประเทศไทย ควรประกอบด้วย ๕ ระบบใหญ่ ดังนี้ ๑) ระบบการผลิตครู เสนอจัดตั้งหน่วยกำกับปริมาณการผลิตครูเป็นหน่วยงานประจำใน สกศ. ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตครูใหม่ (National Teacher Education Board : NTEB) เพื่อสำรวจและวางแผนการผลิตครู ทุกระยะ ๑๐ ปี
๒) ระบบการคัดกรองครู กำหนด ๒ หน่วยงานหลัก โดยให้สภาวิชาชีพหรือคุรุสภา รับผิดชอบกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ รับรองหลักสูตร E-examination และออกใบประกอบวิชาชีพ สำหรับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รับผิดชอบกำหนดตำแหน่ง และการให้ใบอนุญาตวิชาชีพครูควรเป็นแบบอัตโนมัติ ๓) ระบบการพัฒนาครูเพื่อให้ดำรงตำแหน่งบริหาร เสนอให้เข้มงวดกับระบบการคัดเลือกผู้บริหาร ควรเป็นครูที่มีผลงานด้านการบริหาร ขจัดปัญหาผู้บริหารขาดประสบกาณ์และภาวะผู้นำ
๔) ระบบวิทยฐานะ เสนอให้พิจารณาจากประสบการณ์การทำงาน และผลงานที่สะท้อนผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก และ ๕) ระบบการพัฒนาครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา (On the job development) เสนอให้มีระบบพี่เลี้ยง โดยครูที่มีวิทยฐานะสูงเป็นผู้นำการอบรมและเรียนรู้ร่วมกัน (Professional Learning Community : PLC) เพื่อพัฒนาทักษะของครูให้ตรงตามความต้องการ พร้อมยึดจุดเน้นหลักด้านกิจกรรมการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อเปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่ผ่าน ๒ โครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการครูมืออาชีพเพื่อคุณภาพท้องถิ่น (Professional Teacher for Local Quality Project) และโครงการสร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงและครูผู้สร้างนวัตกร
จากนั้นที่ประชุมวางกรอบการทำงานให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน (Forum) โดยคณะทำงานยกร่างข้อเสนอ ฯ ประสานข้อมูลการจัดงานวันครูร่วมกับสำนักงานคุรุสภา เพื่อให้คณะอนุ ฯ กกส. แต่ละคณะได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะและสร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตครู ฯ ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ และประชุมรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีก จำนวน ๒-๓ ครั้ง ก่อนนำเสนอที่ประชุมสภาการศึกษา