“อนุ กกศ.ประชาสังคมฯ กำหนดนิยาม ขับเคลื่อนภาคประชาสังคมเพื่อการศึกษา”

image

 

        วันนี้ (๕ มีนาคม ๒๕๖๓) สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านบทบาทของภาคประชาสังคมเพื่อการศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ โดยมีรองศาสตราจารย์วินัย ดะห์ลัน ประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น ๒ อาคาร ๑ สกศ.

 

 

 

      ที่ประชุมได้หารือถึงคำนิยามและองค์ประกอบของคำว่า “ภาคประชาสังคม” สรุปว่า ภาคประชาสังคม หมายถึง การรวมกลุ่มของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีสำนึกรับผิดชอบเพื่อส่วนรวม อาจรวมตัวกันเป็นกลุ่มบุคคล ชุมชน องค์กร สมาคม ชมรม หรือเครือข่ายที่ไม่ใช่ภาครัฐหรือราชการ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่แสวงหากำไร ไม่รวมถึงนิติบุคคล องค์กร หรือคณะบุคคลที่จั้ดตั้งหรือดำเนินการโดยพรรคการเมือง หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง สำหรับคำนิยามของ “ภาคประชาสังคมเพื่อการศึกษา” หมายถึง บุคคล/กลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในการจัดหรือส่งเสริมการจัดการศึกษา โดยมีลักษณะของการดำเนินการด้วยจิตสำนึกประชาสังคม ไม่แสวงหาผลกำไร มีจุดมุ่งหมายร่วมในการเพิ่มพูนผลประโยชน์ด้านการศึกษา มีการแลกเปลี่ยนความคิด สร้างเอกลักษณ์และความเห็นร่วมกัน จากนั้นได้หารือถึงองค์ประกอบและลักษณะของภาคประชาสังคม และข้อมูลการรวมตัวของภาคประชาสังคมที่ประสบความสำเร็จ (Success case) จากกรณีศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การจะให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งนั้น จุดสำคัญอยู่ที่ผู้นำภายในพื้นที่เห็นความสำคัญของการศึกษา โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมาช่วยกันแก้ไขปัญหาการศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อเนื่องในท้องถิ่น เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบกับตนเอง โดยช่วงแรกรัฐอาจต้องให้การสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและงบประมาณ

        รองศาสตราจารย์วินัย ดะห์ลัน ได้สรุปความเห็นจากที่ประชุมเกี่ยวกับลักษณะของภาคประชาสังคม และข้อมูลการรวมตัวของภาคประชาสังคมที่ประสบความสำเร็จ (Success case) จากกรณีศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ภาคประชาสังคมเพื่อการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ มีจุดเด่น ๔ ข้อ คือ ๑)  มีแนวคิดใหม่ในการดำเนินงาน ๒) มีความยั่งยืนและต่อเนื่องในการดำเนินงานโดยคนในพื้นที่ ๓) มีการสนับสนุนจากภาครัฐในระยะเริ่มต้นและดำเนินการต่อโดยคนในพื้นที่ และ ๔) คนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง โดยการประชุมครั้งต่อไปจะร่วมกันพิจารณาข้อมูลกฎหมาย ระเบียบ การจัดตั้งมูลนิธิ สมาคม และการรวมตัวของภาคประชาสังคมเพื่อการศึกษารูปแบบอื่นๆ รวมทั้งข้อมูลภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจัด ส่งเสริม หรือสนับสนุนการศึกษาด้วย

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด