สกศ. ถก (ร่าง) รายงานการติดตามและประเมินสภาวการณ์ทางการศึกษาเพื่อปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ
วันนี้ (๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓) สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะทำงานติดตามและประเมินสภาวการณ์ทางการศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ โดยมี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เป็นประธานพิจารณา (ร่าง) รายงานการติดตามและประเมินสภาวการณ์ทางการศึกษา ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น ๒ อาคาร ๑ สกศ.
สาระของการประชุม คือ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา (ร่าง) รายงานการติดตามและประเมินสภาวการณ์ทางการศึกษาตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอเกี่ยวกับสภาวการณ์และบริบทแวดล้อมที่มีผลต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ และทักษะสำคัญในโลกศตวรรษที่ ๒๑ ที่ประกอบด้วย ๓Rs + ๘Cs และขอให้เพิ่มเติมคำอธิบายเพื่อความเข้าใจมากขึ้น เช่น อ่านออก (Reading) ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การอ่านออกเท่านั้น ต้องเป็นการอ่านเพื่อจับใจความได้ด้วย
ในส่วนที่ ๒ สภาวการณ์และผลการพัฒนาการศึกษาไทย มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาใน ๒ ปีที่ผ่านมา เช่น พ.ร.บ. การอุดมศึกษา พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ และ พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งมีความคืบหน้ามากน้อยอย่างไร อาจจะเพิ่มเติมรายละเอียดบางประเด็นเพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ได้เสนอในส่วนที่เป็นความท้าทายทางการศึกษา ๕ ประเด็น เพื่อส่งต่อไปให้คณะทำงานชุดที่ ๒ จัดทำยุทธศาสตร์ ได้แก่
- คุณภาพการศึกษา ซึ่งรวมถึง ครู การเรียนการสอน ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ re-skill,up-skill และ CWIE เป็นต้น
- การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคุณภาพทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน
- การบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เช่น เรื่องงบประมาณและการลงทุนด้านการศึกษา
- การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่รวมถึงระบบเครดิตแบงค์, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ Digital Literacy เป็นต้น
- ความเป็นนานาชาติของการศึกษาไทย เช่น การเข้ามาหาประโยชน์จากการศึกษาของคนต่างชาติ การจัดการศึกษาให้แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาจะปรับแก้ให้สมบูรณ์เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๘๐) ต่อไป