สกศ. ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายภูมิปัญญาพื้นถิ่น
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ นายสำเนา เนื้อทอง) นำข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การพัฒนาเครือข่าย ชุมชนของครูจินดา บุษสระเกษ” ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ครูจินดา บุษสระเกษ นอกจากเป็นครูภูมิปัญญาด้านกองทุนและธุรกิจชุมชนแล้ว ยังมีอีกหลายตำแหน่งในพื้นที่ อาทิ รองประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอหนองบุญมาก ประธานชมรมคนรักในหลวงอำเภอหนองบุญมากเป็นวิทยากรพัฒนาคุณภาพชีวิต เรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน โดยได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการกองทุนและธุรกิจชุมชนที่มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนรวม รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนข้างเคียง
ในอำเภอหนองบุญมาก ประกอบด้วย ๙ ตำบล ซึ่งครูจินดามีเครือข่ายอยู่ทุกตำบล การศึกษาดูงานครั้งนี้ ครูจินดาได้นำคณะ สกศ. ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ณ ตำบลสารภีและตำบลหนองไม้ไผ่ ทั้งสองตำบลมีโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับให้ชาวชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เช่น “ตำบลสารภี” มีการจัดทำสำนักงานกองทุนหมู่บ้านสารภี มีการจัดตั้งสหกรณ์ และร้านค้าชุมชน ชาวบ้านจะร่วมเป็นหุ้นส่วนในร้านค้าชุมชน และจะได้รับเงินปันผล มีการ “ทำนารวม” ในพื้นที่สาธารณะของชุมชนด้วยการปลูกข้าวและพืชผักสวนครัวต่าง ๆ แบบผสมผสานโดยไม่ใช้สารเคมี ชาวบ้านร่วมกันลงแขก เกี่ยวข้าว มียุ้งฉางธนาคารข้าวบ้านสารภี และมีโรงสีเป็นของตนเอง ชาวบ้านสามารถใช้ผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีแหล่งเรียนรู้ทฤษฎีเกษตรผสมผสาน การเพาะเลี้ยงไส้เดือน มีโครงการสำหรับช่วยเหลือผู้ยากไร้ คนพิการ ผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ในหมู่บ้าน เป็นต้น สำหรับ “ตำบลหนองไม้ไผ่” มีโครงการที่น่าสนใจ เช่น ธนาคารน้ำ เป็นการขุดบ่อบาดาลเพื่อกักเก็บน้ำมาใช้ การปลูกพืชโดยใช้ โซล่าเซลล์ เป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการปลูกพืช เช่น ดอกดาวเรือง มีระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตร โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การทดลองปลูกทุเรียนในนครราชสีมา ซึ่งได้ผลผลิตที่ดี การรดน้ำพืชโดยใช้ระบบต่อท่อ เป็นต้น