อนุศาสนาฯ ชงรายงาน “สมองซีกขวา มีค่ามากกว่าที่คิด” โดยการเชื่อมโยงศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬาและภูมิปัญญาให้สอดคล้องกับระบบการศึกษา
วันนี้ (๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ครั้งที่ ๓/๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สกศ. โดยมีนางจรวยพร ธรณินทร์ เป็นประธาน ร่วมกันพิจารณารายงานข้อเสนอการบูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญากับการศึกษา ก่อนนำเสนอคณะกรรมการสภาการศึกษา ต่อไป
นางจรวยพร ธรณินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ตามที่ได้แต่งตั้งและมอบหมายให้คณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบูรณาการการศึกษากับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ซึ่งมีนางสาวสุทธาสินี วัชรบูร เป็นประธานคณะทำงานฯ วันนี้จึงได้มานำเสนอรายงานข้อเสนอการบูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญากับการศึกษา ที่ได้จากการศึกษาสถานการณ์ สภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา พบว่า คุณลักษณะของผู้เรียนทั้งในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผลในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ๑) เด็กไทยมีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ๒) หัวโต ตัวลีบ มีการเรียนรู้ที่ขาดความสมดุล เน้นด้านสติปัญญาความรู้ แต่ขาดการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ๓) รู้ธรรมะ แต่ไม่มีธรรมะ ขาดการฝึกฝนอย่างเพียงพอ ๔) นกแก้วนกขุนทอง จดจำความรู้ความเข้าใจในระดับผิวเผินไม่รู้ลึกรู้จริง ๕) เก่งแบบเป็ด ไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้ศักยภาพและความถนัดของตนเอง ๖) เรียนเพื่อสอบ เรียนเพื่อให้ได้เกรดหรือให้สอบผ่าน ๗) เรียนแบบตัวใครตัวมัน ๘) ไม่เห็นคุณค่าของการเรียน
นอกจากนี้ยังพบสภาพปัญหาที่เกิดจากการเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬาและภูมิปัญญา อาทิ การเหินห่างจากศาสนาของคนในชาติ ให้ความสำคัญกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะน้อยกว่ากลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นทั้งที่ศิลปะสามารถพัฒนาสมองซีกขวาให้เกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมอันดีงามเริ่มเสื่อมถอย สังคมไทยมีแนวโน้มเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ขาดความเหมาะสมในการจัดเวลาสำหรับออกกำลังกายในสถานศึกษา ขาดความสำคัญของการส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาของเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย ส่งผลเสียระยะยาวด้านพลานามัยของคนในประเทศ ขาดการเทียบโอนความรู้ภูมิปัญญากับระบบการศึกษา
ข้อเสนอระดับนโยบาย เช่น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการร่วมกับกระทรวง ทบวง กรม และสถาบันผลิตครูที่เกี่ยวข้อง พัฒนาหลักสูตร/ปรับหลักสูตรที่บูรณาการด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมองทั้ง ๒ ซีกอย่างสมดุล เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาของชาติ การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้ง ๕ ด้าน การสนับสนุนการทำวิจัย การจัดทำสื่อ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย มีระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) การจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูล (Big Data) เพื่อนำไปวิเคราะห์และจัดทำหลักสูตรแนวใหม่ ตลอดจนการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในสังคม ฯลฯ
สำหรับแนวทางการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการศึกษา ด้านหลักสูตร ได้แก่ ให้สถานศึกษาจัดทำคู่มือและหลักสูตรการบูรณาการทั้ง ๕ ด้านกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นให้นำไปปฏิบัติได้จริง การปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางควรมีภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็น มีระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองตามโอกาสและเวลาตามความเหมาะสม ด้านผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ การบรรจุแต่งตั้งผู้บริหารที่มีความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์ของแต่ละด้าน เห็นความสำคัญของการพัฒนาสมองทั้ง ๒ ซีกอย่างสมดุล สนับสนุนให้เกิดการวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอน และยกย่องผู้ที่มีผลงานเป็นแบบอย่างในการจัดการเรียนรู้ที่บุรณาการศาสตร์ทั้ง ๕ ด้าน ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน ได้แก่ การผลิตสื่อสร้างสรรค์โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการคิด มีเวทีเผยแพร่ผลงานทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ มีการกำกับติดตาม ตรวจสอบ พัฒนา ช่วยเหลือ การจัดทำสื่อเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ด้านเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ จัดให้มีเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการทั้ง ๕ ด้าน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยรายงานฉบับข้อเสนอการบูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญากับการศึกษาฉบับนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เพื่อผลักดันเป็นนโยบายในการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ ๒๑
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี ๒๕๖๓ จะลงพื้นที่โรงเรียนที่มีผลงานดีเด่นเป็นต้นแบบได้ ในการสอนที่บูรณาการทั้ง ๕ ด้านกับการศึกษา เช่น วัดสุทธิวราราม โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ รวมทั้งจะจัดประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อเชิญชวนนักเรียน ผู้ปกครอง และครู มาทดลองร่วมกิจกรรมพัฒนาสมองซีกขวา นอกจากนั้นจะจัดทำหนังสือ “สมองซีกขวา พัฒนาได้ : เด็กอยากขอ พ่อแม่อยากรู้ ครูอยากเข้าใจ” เพื่อชี้แนะการลงมือปฎิบัติจริง โดยจะเป็นคู่มือง่ายๆ ที่เด็ก พ่อแม่ และครู จะลงมือทำได้จริง