สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น Big Data ความท้าทายใหม่ทางการศึกษา

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านระบบฐานข้อมูลและตัวชี้วัด ร่วมสนทนาประเด็น “Big Data ความท้าทายใหม่ทางการศึกษา”
 
ทราบมาว่าท่านรองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านระบบฐานข้อมูลและตัวชี้วัด ได้ร่วมนำเสนอเรื่อง “สภาวการณ์ศึกษาไทยเมื่อมองจาก Big Data” ในงานมหกรรมการศึกษาแห่งชาติ : ก้าวสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า ซึ่งจัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ก่อนอื่น ขอให้อาจารย์อธิบายถึงที่มาและรูปแบบของข้อมูลหรือ Big Data ที่นำมาใช้วางแผนการศึกษา และข้อมูลดังกล่าวสะท้อนสภาพการศึกษาไทยในทิศทางใด
       
รศ.ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย :     คณะอนุกรรมการ ฯ มีพันธกิจในการเสนอนโยบายและวิธีการประเมินข้อมูลเกี่ยวกับสภาวการณ์ด้านการศึกษา ปัจจุบันข้อมูลอยู่ในรูปแบบฐานข้อมูล (DataBase) ที่ระบุ ชื่อ – สกุล ที่อยู่ ชื่อบิดา – มารดา หรือภูมิลำเนา ข้อมูลจากสถานศึกษากว่า ๓ หมื่นแห่งทั่วประเทศใช้การบันทึกข้อมูลโดยบุคลากรไม่ใช่การเชื่อมโยงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้อาจเกิดความผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานที่ไม่สะท้อนพฤติกรรมของผู้เรียน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อข้อมูลเชื่อมโยงกันจนเป็น Big Data จะช่วยสะท้อนทิศทางการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา รวมถึงแสดงแนวโน้มการประกอบอาชีพที่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนนโยบายการศึกษาของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     คณะอนุกรรมการ ฯ มีมาตรการอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาเชื่อมโยงให้เป็น Big Data ที่ครอบคลุมทุกมิติทางการศึกษา 
       
รศ.ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย :    
เบื้องต้นคณะอนุกรรมการ ฯ ได้กำหนดมาตรการไว้ ๓ แนวทาง
 
๑) Big Data จากการบูรณาการข้อมูลระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยจะนำแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลจากผลการประชุมของคณะอนุกรรมการ ฯ และที่ประชุมกรรมการสภาการศึกษาไปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนและผู้ปกครองเข้ากับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ตามเลขบัตรประชาชน ๑๓ หลักของกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารและให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นองค์กรหลักในการประสานงานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัย ถูกต้อง และครอบคลุมในทุกมิติของการศึกษา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน 
 
๒) Big Data จากการบูรณาการข้อมูลในข้อที่ (๑) ร่วมกับข้อมูลการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา ฯ ได้ประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมีการหารือเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลทางการศึกษาของอุดมศึกษา ซึ่งผมได้รับเชิญให้เป็นกรรมการในคณะดังกล่าวด้วย เชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ๓ หน่วยงาน คือ อว. มท. และ ศธ. ทำให้สามารถเห็นทิศทางการศึกษาของนักเรียนไทยและต่อยอดถึงการส่งเสริมการศึกษาต่อในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ ๑ ปี 
 
๓) Big Data จากการบูรณาการข้อมูลในข้อที่ (๒) ร่วมกับข้อมูลของกระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อศึกษาแนวโน้มทิศทางการประกอบอาชีพทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการศึกษาต่อในต่างประเทศ ทำให้ได้ข้อมูลไปใช้ในการยกระดับจาก "ผู้ใช้แรงงาน" (Man Power) เป็น "ผู้ใช้พลังสมอง" (Brain Power) ตามยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศระยะ ๒๐ ปี อย่างไรก็ตามการบูรณาการข้อมูลระดับชาติเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญและร่วมส่งข้อมูลเพื่อสร้าง Big Data ที่ถูกต้อง ครอบคลุม และเชื่อถือได้ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบาย ตัวชี้วัด และมาตรฐานการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ :      ในฐานะที่ท่านเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ TCAS ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ท่านเห็นว่าควรใช้ Big Data เป็นเครื่องมือวิเคราะห์แนวทางเพื่อลดอัตราการออกนอกระบบได้อย่างไร
       
รศ.ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย :    

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบ TCAS ในปีการศึกษา ๒๕๖๒ ทาง ทปอ. ได้นำข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการมาพัฒนาระบบสารสนเทศร่วมกัน ทำให้สามารถประเมินจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่ตกค้างจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีก่อน โดยหากเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวเข้ากับเลขที่บัตรประชาชน ๑๓ หลัก จะช่วยลดความผิดพลาดเรื่องการสะกดชื่อ – นามสกุล ทั้งของนักเรียนและบิดามารดา ทำให้การสมัครสอบ TCAS รวดเร็วขึ้น ซึ่งหากสถานศึกษาแต่ละแห่งมีเครื่องอ่านข้อมูลบัตรประชาชนของนักเรียน รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียนและผู้ปกครองร่วมตรวจสอบ จะช่วยให้ข้อมูลการศึกษาพื้นฐานของไทยมีความถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดไปใช้กับระบบเข้าเรียนเเบบ Real-Time ได้ อย่างไรก็ตาม หากสถานศึกษาใดมีนักเรียนชายขอบที่ใช้การกำหนดตัวอักษร G, P หรืออักษรอื่น ๆ นำหน้าเลข ๑๓ หลัก จะต้องระมัดระวังเรื่องการซ้ำซ้อนของข้อมูล

สำหรับแนวทางการลดอัตราการออกนอกระบบควรเชื่อมโยงข้อมูลเด็กแรกเกิดจากกระทรวงสาธารณสุข เข้ากับข้อมูลเด็กที่เข้าเรียนในช่วง ๓ – ๗ ขวบ ของกระทรวงศึกษาธิการ อาจช่วยให้ทราบถึงจำนวนเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ทั้งนี้ ภาครัฐควรเตรียมงบประมาณเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ รวมถึงนักเรียนที่ออกนอกระบบหลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มัธยมศึกษาปีที่ ๓ และมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ให้ได้รับทุนการศึกษาหรือการสนับสนุนอื่น ๆ เพื่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติต่อไป 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านรองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านระบบฐานข้อมูลและตัวชี้วัด ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
รศ.ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย :    

แม้ว่าระบบ Big Data จะเกิดขึ้นได้จากการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญคือ การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง สถานศึกษาจะต้องให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลให้ทันสมัยได้เสมอ เพราะ Big Data ที่ถูกต้องและครบถ้วนจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงกับสภาพบริบทที่เกิดขึ้นจริง

ผู้สนใจสามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา” 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านระบบฐานข้อมูลและตัวชี้วัด ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด