สกศ.จับเข่าคุย DEPA การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้
เมื่อวันที่ (๙ กันยายน ๒๕๖๒) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง "แนวทางการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของคนไทยทุกช่วงวัย" โดยมีนายสำเนา เนื้อทอง ผอ.สมร. เป็นประธานการประชุม และมี ดร.รัฐศาสตร์ กรสูตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นวิทยากร ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
นายสำเนา เนื้อทอง ผอ.สมร. กล่าวว่า สกศ. ในฐานะหน่วยงานนโยบายการศึกษาได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ๗ เรื่องและประเด็นปฏิรูป คือ ๑.การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง ๒.การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ๓.การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ๔.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ๕.การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ๖.การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และ ๗.การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล
นอกจากนี้ยังมีภารกิจการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ในการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งหมด อีกทั้ง สกศ. ยังได้จัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผู้เรียนไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา คือ ๑. ผู้เรียนรู้ ๒. ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และ ๓. พลเมืองที่เข้มแข็ง
ดังนั้น ตามบทบาทหน้าที่ของ สกศ. ดังกล่าว โดยเฉพาะแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในเรื่องและประเด็นปฏิรูปที่ ๗ การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล สกศ. เห็นว่าสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญทางดิจิทัล จึงต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูล วิธีการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น เรื่อง Coding เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการจัดทำข้อเสนอหรือนโยบายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของคนไทยทุกช่วงวัย
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูตร รองผู้อำนวยการ DEPA กล่าวว่า DEPA มีภารกิจสำคัญในการจัดทำแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นโยบาย ดัชนี รายงานสถานการณ์ และติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาการนำเทคโนโลยี Digital มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ชุมชน สังคม และท้องถิ่น รวมถึงพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
การเรียน Coding เกิดเมื่อประมาณปี 2560 ตอนนั้นเริ่มเห็นเทรนด์หรือแนวโน้มของ Coding ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ การสอน Coding และการผสมผสาน Coding เข้าไปในการเรียนทุกระดับชั้น DEPA ได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ในหลายประเทศ Coding ถูกขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน มีรัฐบาลเป็นฝ่ายอำนวยการ ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการจัดตั้ง Code.org เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่อุทิศตนเพื่อขยายการเข้าถึงวิทยาการคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ซึ่งเป็นการร่วมมือของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon Facebook Google มูลนิธิ Infosys และ Microsoft ประเทศไทยจึงได้ลงนาม MOU กับ Code.org และจัดทำเป็น codingthailand.org
นอกจากนี้ DEPA ยังดำเนินงานโครงการแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ระดับประเทศ (Coding Thailand) และต่อยอดเป็นห้องต้นแบบเพื่อการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ (Young Maker Space) 200 โรงเรียนต้นแบบ “การสอน Coding ในเด็กปฐมวัยถึงประถมศึกษาจะจัดกิจกรรมให้เด็กเข้าใจกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบผ่านสื่อการเรียนการสอนหรือเกม เมื่อเด็กโตขึ้นอีกระดับไม่ได้สอนให้เด็กไปเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่สอนให้เด็กเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร” ดร.รัฐศาสตร์ กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ทางด้านการศึกษา เพื่อหาแนวทางแก้ไข และการเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง สกศ.และ DEPA