สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น OKRs : ทางเลือกใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา
ผู้ดำเนินรายการ : |
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากอาจารย์ประจำสาขาบริหารการปฏิบัติการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์) ร่วมสนทนาประเด็น “OKRs : ทางเลือกใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา”
ทราบมาว่าท่านศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ได้ร่วมนำเสนอเรื่อง “การประกันคุณภาพการศึกษา ด้วยแนวคิด OKRs : Objective and Key Results” ในงานมหกรรมการศึกษาแห่งชาติ : ก้าวสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า ซึ่งจัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ก่อนอื่น ขอให้อาจารย์อธิบายถึงแนวคิด OKRs และจุดเด่นที่แตกต่างจากการประกันคุณภาพรูปแบบเดิม
|
||
ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : |
OKRs มาจากคำว่า Objective and Key Results เป็นเครื่องมือในการบริหารองค์กรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศโดยเฉพาะภาคเอกชน OKRs เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นและเน้นการตัดสินใจร่วมกันของบุคลากรทุกระดับจึงสามารถนำมาปรับใช้กับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถสร้างระบบประกันคุณภาพได้ด้วยตนเอง เพื่อแก้ปัญหาจากการประกันคุณภาพแบบเดิมที่มีตัวชี้วัดจากส่วนกลางโดยอาจไม่ตรงกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา
จุดเด่นของระบบ OKRs ที่แตกต่างจากการประกันคุณภาพรูปแบบเดิมที่นิยมใช้ระบบ KPIs (Key Performance Indicators) มีหลายประการ อาทิ ๑) OKRs เป็นระบบแบ่งผสมระหว่างการบริหารจากบนลงล่าง (Top Down) และล่างขึ้นบน (Bottom Up) เริ่มจากการตั้งเป้าหมายสูงสุดขององค์กรไล่ลงมาจนเป็นการเป้าหมายของทีมงาน และเป้าหมายของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน ต่างจากระบบ KPIs ที่ผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้กำหนดตัวชี้วัดโดยผูกติดกับการประเมินการขึ้นเงินเดือน บุคลากรจึงอาจตั้งเป้าหมายไว้สูงเพื่อให้สอดคล้องกับผลตอบแทน ส่งผลให้เป้าหมายเหล่านั้นไม่สะท้อนความเป็นจริงของสถานศึกษา ๒) ระบบ OKRs เปิดโอกาสให้ทุกคนเสนอเป้าหมายที่ท้าทายตนเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กร จึงมีโอกาสที่จะเกิดนวัตกรรมได้สูงกว่าระบบที่ KPIs ทำให้บุคลากรมุ่งเน้นเฉพาะสิ่งที่ถูกวัด ๓) ระบบ OKRs มีการประเมินรายไตรมาสหรือรายภาคการศึกษา ทำให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนระบบ KPIs มีรอบการประเมินค่อนข้างนานจึงไม่เอื้อต่อการปรับตัวชี้วัดให้เป็นตอบโจทย์บริบทในปัจจุบัน และ ๔) การประเมินตามแบบ OKRs ไม่เน้นการจัดทำเอกสารแสดงผลปฏิบัติงาน แต่เป็นการรายงานความคืบหน้าเพื่อปรับแนวทางปฏิบัติงานให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนกำหนดไว้ จึงช่วยลดภาระงานให้ครูได้เป็นอย่างยิ่ง
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | แนวคิดดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้กับสถานศึกษาในแต่ละระดับอย่างไร | ||
ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : |
ระบบ OKRs เป็นทางเลือกหนึ่งในการประกันคุณภาพการศึกษาภายในที่สถานศึกษาสามารถนำไปปรับให้เหมาะสมกับบริบทและระดับชั้นที่แตกต่างไป หากสถานศึกษายังไม่มีความพร้อม อาจทดลองใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับระดับผู้บริหารและขยายผลไปยังครูผู้สอน แนวทางการประยุกต์ใช้สามารถยึดตามหลักการของมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดทำขึ้นเพื่อเน้นคุณลักษณะผู้เรียน ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ผู้เรียนรู้เพื่อสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดี ๒) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสังคมที่มั่นคง มั่งคง และยั่งยืน และ ๓) พลเมืองที่เข้มแข็ง เพื่อสันติสุข
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัย กำหนด OKRs ที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ ดูแลเด็กให้มีพัฒนาการเป็นไปตามวัย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์คือ เด็กเล็กที่อยู่ในความดูแลมีพัฒนาการตามวัยที่กำหนดร้อยละ ... ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากหากมีวัตถุประสงค์จำนวนมากจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถทราบได้ว่างานใดเป็นงานสำคัญและมีความจำเป็น และหากมีทรัพยากรที่จำกัดจะทำให้ต้องกระจายทรัพยากรไปใช้พร้อมกัน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและอาจจะไม่นำไปสู่ผลสำเร็จที่ชัดเจน
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : |
ครู อาจารย์ รวมถึงหน่วยงานด้านการศึกษาควรปรับบทบาทอย่างไร เพื่อช่วยให้การใช้แนวคิดดังกล่าวสามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริง
|
||
ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : |
ปัจจัยความสำเร็จ (Key Success Factor) ของการประกันคุณภาพการศึกษาด้วยแนวคิด OKRs คือ ผู้บริหารจะต้องเข้าใจระบบนี้อย่างถ่องแท้และเชื่อมั่นว่าระบบดังกล่าวจะสามารถขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายได้ หากผู้บริหารเชื่อมั่นเช่นนี้จะทำให้บุคลากรเกิดความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองและองค์กรตามแนวคิดของ OKRs จนประสบผลสำเร็จ อาจเริ่มจากผู้อำนวยการสถานศึกษาเริ่มกำหนด OKRs ของโรงเรียน พร้อมทั้งค้นหา Key Results หรือผลลัพธ์ของเป้าหมาย ซึ่งจะต้องชัดเจน วัดผลได้ และไม่คลุมเครือ เพื่อให้ตัวชี้วัดและผลการประกันคุณภาพฯ ตรงกับบริบทของโรงเรียน ทั้งนี้ การออกแบบวัตถุประสงค์ที่ดีควรสร้างแรงบันดาลใจให้อยากที่จะทำ ไม่ใช่การเอางานประจำมากำหนดวัตถุประสงค์
แนวคิด OKRs เป็นการเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถจัดทำการประกันคุณภาพภายในให้ตรงกับความเป็นจริง อีกทั้งเชื่อมโยงหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้เริ่มเพียงแค่กำหนดวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่ต้องการ สถานศึกษา แต่ละแห่งจึงสามารถเลือกดำเนินโครงการที่แตกต่างกันแต่เหมาะสมกับบริบทของตนและอาจช่วยสร้างนวัตกรรมการศึกษาในโรงเรียนได้
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา | ||
ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : |
การประกันคุณภาพการศึกษาด้วยแนวคิด OKRs เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้สถานศึกษาได้รับอิสระในการออกแบบระบบการประกันคุณภาพ และสามารถนำไปปรับใช้กับวัฒนธรรมองค์กรที่หลากหลาย หากนำไปทดลองใช้แล้วได้ผลตอบรับดีจะช่วยเปิดโอกาสให้บุคลากรสามารถนำเสนอความคิดเพื่อสร้างสรรค์องค์กรได้ สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage "เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา" |
||
ผู้ดำเนินรายการ : | สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณท่านศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา | ||
***************************************************** |