สกศ.ประชุมสร้างความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับบทบาทการพัฒนาเด็กปฐมวัย
วันนี้ (๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประเด็น “การวิเคราะห์เพื่อออกแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาความร่วมมือระบบราชการ ๔.๐ รองรับบทบาท พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.๒๕๖๒” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมชาติ โตรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ อาจารย์มานพ กองอุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ สำนักงาน ก.พ.ร. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ กระทรวงศึกษาธิการ
นางพิจารณา ศิริชานนท์ นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ ในฐานะผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เรื่องการเตรียมความพร้อมของสกศ. ในระบบราชการ ๔.๐ เพื่อรองรับบทบาทการพัฒนาเด็กปฐมวัย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือฐานข้อมูลเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกัน สามารถแบ่งปันร่วมกันได้ เรื่องการดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียนรู้ เป็นหลักการหลักของ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะลดปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อน ประเด็นการวิเคราะห์ เพื่อออกแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาความรู้ระบบราชการ ๔.๐ รองรับบทบาท พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยประเด็นวันนี้
รองศาสตราจารย์ นพ.สมชาติ โตรักษา กล่าวว่า พรบ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย กลุ่มเป้าหมายเกิน ๑๐ ล้านคน นับตั้งแต่การเตรียมความพร้อมพ่อแม่ก่อนจะมีบุตร ตั้งครรภ์ ดูแลเลื่อยมาจนคลอด มีกรมอนามัยดูแล ๓ ปีแรก และดูแลไปจนกระทั่งเข้าเรียนชั้นประถม ๑ จนถึง ๘ ขวบ การพัฒนาจะเป็นตัวช่วยบุคลากรชาติ เด็ก พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้กล่าวถึงว่าต้องมีการบูรณาการจากทุกกระทรวง ทุกภาคส่วน จนถึงประชาชน รวมถึงการมีมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนเรื่อง Data Base โดยนำ IT เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ มีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบการประมวลผลเพื่อนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถไปใช้ประโยชน์ได้ทุกที่ สำหรับสิ่งที่จะพัฒนาต่อไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและการพัฒนาประเทศคือทำให้เป็น “วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศเชิงบูรณาการ” ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศตามบริบทชุมชนและงานตามภารกิจหลักของแต่ละส่วนราชการ
นายมานพ กองอุ่น กล่าวว่า การประชุมวันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายที่จะเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกัน ในการจัดทำฐานข้อมูลด้านเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการจัดทำระบบโปรแกรมในการให้บริการข้อมูล รูปแบบ Application Programming Interface (API) ให้เกิดการใช้ข้อมูลร่วมกันลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล และมีความสะดวกต่อการนำข้อมูลไปใช้ โดยการจัดทำสถิติด้านเด็กปฐมวัยในทุกมิติทั้งด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านสวัสดิการ ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำข้อมูลไปช่วยในการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป
ด้าน นางสาวจารุวรรณ ฤทธิ์บันลือ นักพัฒนาระบบราชการชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ.ร. กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึง เริ่มต้นจากกำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ ใน พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมกันก่อน โดยทำงานครั้งเดียวตอบโจทย์หลายข้อ และขับเคลื่อนจะต้องมีผู้นำที่มีอำนาจสั่งการ ศึกษาปัญหาข้อมูล กำหนดเป้าหมายหลักไม่เกิน ๓ หัวข้อ เรื่องมาตรฐานการพัฒนาจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนในบางมาตรฐาน มีการปรับปรุง แผนและมาตรฐาน การกำหนดตัวชี้วัดที่จะต้องตอบโจทย์ รายงานความก้าวหน้า สำหรับเป้าหมายตัวชี้วัดหน่วยงานอื่น ตัวชี้วัดร่วมที่ใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางระบบการทำงาน แผนการพัฒนามาตรฐาน เมื่อกำหนดมาตรฐานอาจจะต้องกำหนดโครงสร้างในการทำงาน แต่ละเรื่องจะมีรายละเอียดย่อย มีแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแผนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัย
สำหรับภาคบ่าย แบ่งกลุ่ม ๒ กลุ่ม ดังนี้
กลุ่ม ๑ เรื่องข้อมูลข่าวสารที่เน้นการพัฒนาฐานข้อมูลแต่ละแห่งซึ่งได้ทำไว้แล้ว เพียงแต่กระบวนการนี้มาถูกทางแล้วหรือยังโดยใช้ IT เข้ามาช่วย การดำเนินการให้ตรงกับทิศทางกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงดิจิทัลถ้าจะนำมาประยุกต์กับ พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย ในขณะเดียวกันจะมีข้อมูลเก่าสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือได้ไม่มาก แต่เมื่อถึงเวลาจะใช้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ทันเวลา ข้อมูลจะล่าช้า ๑ เดือนในเชิงบริหาร ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกัน ต้องมีการจัดทำข้อมูลให้ทันเวลา นอกจากนี้ Good Practice แนวปฏิบัติที่ดีจะเป็นแนวคิดใหม่ที่ควรจะออกมาเป็นต้นแบบ ซึ่งทุกหน่วยงานจะมีอยู่แล้ว แต่จะนำมาใช้ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าจะทำให้เป็นนวัตกรรมได้หรือไม่
กลุ่ม ๒ เรื่องฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย แต่ละหน่วยงานมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบการทำข้อตกลงร่วมระหว่างหน่วยงานในการเชื่อมต่อข้อมูลพื้นฐานไปยังระบบสารสนเทศ เพื่อลดเวลาการนำเข้าข้อมูล มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ มีการประเมินตนเองของหน่วยงานในบางแห่ง สำหรับข้อมูลพื้นฐานสถานศึกษา นักเรียน บุคลากร การนำเข้าข้อมูลต่าง ๆ ส่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นข้อมูลตั้งต้น สำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกกระทรวง ควรทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเชื่อมต่อข้อมูล เช่น ข้อมูลสาธารณสุข พ่อแม่ ประวัติการคลอด การรับวัคซีน โภชนาการ การวัดพัฒนาการ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบเชื่อมต่อข้อมูลต่อไป