สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ภูมิปัญญาไทย “ปุยไหมไอดอล” จากรังไหมสู่ดอกไม้ประดิษฐ์

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากครูหนูจีน ศรีนัมมัง ร่วมสนทนาประเด็น “ภูมิปัญญาไทย “ปุยไหมไอดอล” จากรังไหมสู่ดอกไม้ประดิษฐ์”
 
ทราบมาว่าครูหนูจีน ศรีนัมมัง ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และจัดตั้งกลุ่มศิลปะประดิษฐ์ดอกไม้จากรังไหม บ้านหนองบัวพัฒนา ตำบลบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ “NOOJEEN” และได้รางวัลโอท็อป ๕ ดาวระดับประเทศ ก่อนอื่นขอให้ครูหนูจีน เล่าถึงจุดเริ่มต้นความสนใจและขั้นตอนการประดิษฐ์ดอกไม้จากรังไหมที่สามารถส่งออกได้ในต่างประเทศ
       
ครูหนูจีน ศรีนัมมัง :    
ครูเกิดที่จังหวัดนครราชสีมาซึ่งมีผ้าไหมเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง ครูจึงคลุกคลีกับหัตถกรรมประเภทนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อได้เข้าร่วมอบรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ณ ศูนย์วิจัยหม่อนไหม จังหวัดนครราชสีมา ครูสังเกตเห็นว่ากระบวนการผลิตเส้นไหมทำให้มีรังไหมเปล่าจำนวนมากถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ ครูจึงนำมาดัดแปลงเป็นดอกไม้ประดิษฐ์เพื่อเป็นอาชีพเสริม โดยได้รวมกลุ่มแม่บ้านในท้องที่จัดตั้งเป็น “กลุ่มศิลปะประดิษฐ์ดอกไม้จากรังไหม” ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ ๓๐ คน แต่หากมีการสั่งจองจากต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งมีความต้องการมากถึง ๒ – ๓ แสนดอก คนในชุมชนที่เคยเข้าอบรมกับกลุ่มฯ จะมาร่วมทำด้วย จุดเด่นที่ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการในตลาดและได้รางวัลโอท็อป ๕ ดาวระดับประเทศ คือ ผลงานดอกไม้ประดิษฐ์มีรูปร่างและสีที่ใกล้เคียงกับดอกไม้จริงตามธรรมชาติ เนื่องจากกลุ่มฯ ใช้วิธีนำดอกไม้จริงมาคลี่ เพื่อตัดกลีบและเข้าช่อให้เหมือนของจริงมากที่สุด 
 
นอกจากความรู้ที่ได้จากการอบรมที่ศูนย์วิจัยฯ ครูได้นำภูมิปัญญาไทยจากคุณแม่และผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการย้อมสีไหม มาปรับกรรมวิธีการย้อมสีจากเดิมที่ใช้น้ำร้อนเป็นการย้อมสีด้วยน้ำเย็นและผงซักฟอก ทำให้รังไหมขยายตัวเมื่อนำไปย้อมสีจะซึมซับสีได้สม่ำเสมอ อีกทั้งสีที่ได้จึงเป็นสีที่ใกล้เคียงสีดอกไม้ธรรมชาติ ดอกไม้ประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมีมากกว่า ๒๐ – ๓๐ ชนิด อาทิ ดอกโป๊ยเซียน ดอกผกากรอง และดอกลิลลี่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปทรงของรังไหม เช่น รังไหมรูปทรงกลมมักนำมาประดิษฐ์เป็นดอกมะลิ รังไหมรูปทรงยาวจะนำมาประดิษฐ์เป็นดอกบัว การประดิษฐ์ดอกไม้จากภูมิปัญญาไทยช่วยเพิ่มมูลค่ารังไหมจากเดิมที่ราคากิโลกรัมละ ๕๐๐ - ๖๐๐ บาท ปัจจุบันรังไหมคุณภาพดี มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ ๑,๕๐๐ บาท ขณะนี้กลุ่มศิลปะประดิษฐ์ดอกไม้จากรังไหมได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ช่วยสร้างรายได้และนำความภาคภูมิใจให้กับคนจังหวัดนครราชสีมาเป็นอย่างยิ่ง   
       
ผู้ดำเนินรายการ :     
ขอให้ครูเล่าถึงผลงานวิชาการต่างๆ อาทิ “ดอกไม้ประดิษฐ์จากรังไหม” และการร่วมบันทึกงานวิจัยเรื่อง “ปุยไหมไอดอล” รวมถึงกลวิธีในการขยายผลองค์ความรู้ร่วมกับชุมชน
       
ครูหนูจีน ศรีนัมมัง :    

หนังสือ “ดอกไม้ประดิษฐ์จากรังไหม” เป็นผลงานที่ครูรวบรวมภูมิปัญญาตั้งแต่การคัดเลือกรังไหม กระบวนการผลิต จนถึงการเข้าช่อดอกไม้ในรูปแบบต่างๆ มาเป็นเอกสารประกอบการสอนให้แก่ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาในหลายสถาบันที่สนใจ ทำให้ครูได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาคหกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ภายหลังพัฒนากรจังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมาได้เชิญชวนให้ครูและนักเรียนมาร่วมกันบันทึกการวิจัยภายใต้ชื่อ “ปุยไหมไอดอล” เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการประดิษฐ์ดอกไม้จากรังไหมให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป 

แนวทางการขยายผลองค์ความรู้เป็นการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การใช้รังไหมซึ่งวัตถุดิบที่สร้างรายได้ให้ชุมชน รวมถึงการแสวงหาวัตถุดิบใหม่ที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ เช่น เปลือกข้าวโพด กาบกล้วย และเศษผ้า นำมาประดิษฐ์เป็นของชำร่วยที่ใช้ในงานสำคัญของจังหวัด อาทิ พวงกุญแจ หมวก และกระเป๋าใบเล็ก ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้เปิดสอนให้แก่ผู้สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของกลุ่มฯ ที่ว่า “ร่วมกันคิด ฝ่าวิกฤติความยากจน หลุดพ้นอย่างยั่งยืน สุขสดชื่นทุกครัวเรือน”

       
ผู้ดำเนินรายการ :      อยากให้ครูแนะนำว่า การศึกษาไทยควรปรับปรุงหลักสูตรการสอนอย่างไร เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทยในการพัฒนาท้องถิ่นของตน
       
ครูหนูจีน ศรีนัมมัง :     ครูอยากให้ภาครัฐส่งเสริมการเรียนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น และช่วยต่อยอดการเรียนการสอนที่ไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่สถานศึกษาควรจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดความผูกพันกับชุมชน อาจเป็นการเรียนรู้แหล่งวัตถุดิบ การได้ร่วมอบรมกับคนในชุมชน สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการผลิตอย่างลึกซึ้ง เกิดความภาคภูมิใจ และตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น การถ่ายทอดความรู้ในสถานศึกษาครูจะสอดแทรกคุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ๑) ซื่อสัตย์ต่องานที่ทำ ๒) ทุ่มเทและเสียสละ ๓) มีความรับผิดชอบ ๔) มีความเห็นอกเห็นใจ และ ๕) ไว้วางใจซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้เป็นหลักคิดที่ผู้เรียนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและเป็นพื้นฐานความสำเร็จในงานทุกประเภท
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
สุดท้ายนี้ ขอให้ครูหนูจีน ศรีนัมมัง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูหนูจีน ศรีนัมมัง :    
สิ่งของเหลือใช้รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นกาบกล้วย ทะลายหมาก หรือแม้แต่ดอกไม้แห้ง สิ่งเหล่านี้สามารถนำกลับมาประดิษฐ์เป็นของใช้ที่มีคุณค่าได้อีกครั้งด้วยภูมิปัญญาไทย หากทุกคนเรียนรู้ที่จะผสานความคิดสร้างสรรค์สมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาไทย ครูเชื่อว่าจะมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ให้กับคนในชาติได้เป็นอย่างมาก 
 
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูหนูจีน ศรีนัมมัง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด