สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สมรรถนะใหม่...เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ ๒๑

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก นายอรรถการ ตฤษณารังสี กรรมการสภาการศึกษา ในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชน ร่วมสนทนาประเด็น “ไขสมรรถนะใหม่...เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ ๒๑”
 
ตามที่นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ มีนโยบายเร่งด่วนประการหนึ่งคือ การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ ๒๑
ในทัศนะของท่านกรรมการสภาการศึกษา ในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชน (นายอรรถการ
ตฤษณารังสี) เห็นว่าคนไทยต้องมีสมรรถนะใดบ้างเพื่อให้ก้าวทันยุคสมัยของ
ความเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์การทำงานในโลกศตวรรษที่ ๒๑
       
นายอรรถการ ตฤษณารังสี :    

สมรรถนะที่จะช่วยให้คนไทยก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ มี ๒ สมรรถนะหลัก คือ ๑) ความสามารถในองค์ความรู้แกนหลัก และองค์ความรู้แกนเสริม ๒) ทักษะ
ด้านการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ ทักษะการอ่านเพื่อเข้าใจข้อมูล และทักษะการคิด
อย่างมีวิจารณญาณ 

 

สมรรถนะประการแรกเป็นการสร้างรากฐานความรู้ที่จำเป็นต่อการศึกษาในโลกอนาคต ประกอบด้วยองค์ความรู้แกนหลัก หมายถึง ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพ และองค์ความรู้แกนเสริม หมายถึง ความรู้แบบสหวิทยาการ เช่น วิศวกรไม่ควรมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านยานยนต์ ไฟฟ้า หรือเครื่องกล แต่ควรรอบรู้เรื่องไอทีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับองค์ความรู้แกนหลักให้เป็นมืออาชีพที่พร้อมเปิดรับองค์ความรู้ใหม่
อย่างไม่สิ้นสุด 

 

ส่วนสมรรถนะประการที่สองเป็นการประยุกต์องค์ความรู้เพื่อพัฒนางานของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มจากมีทักษะในการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยสืบค้นให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อเหตุการณ์ จากนั้นผู้เรียนต้องสามารถอ่านวิเคราะห์
เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลอย่างถ่องแท้ รวมถึงต้องใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
เพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์
ผลงานและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น

       
ผู้ดำเนินรายการ :     ท่ามกลางสังคมเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร เราควรใช้หลักการใดในการเลือกรับสื่อให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันมากที่สุด 
       
นายอรรถการ ตฤษณารังสี :
    เทคโนโลยีสมัยใหม่มักมาพร้อมกับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายเพียงเปิดมือถือ สิ่งสำคัญคือ เราต้องเลือกรับสื่อโดยใช้ปัญญา หากเรามี
องค์ความรู้แกนหลักและองค์ความรู้แกนเสริม เราจะก้าวทันโลกได้อย่างไม่ต้องรีบร้อนเพราะเป็นคนทันสมัยอยู่เสมอ งานวิจัยหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกามีข้อสังเกตว่า
ในอดีตหากใครขาดทักษะการยิงปืนและการขี่ม้าคงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลาง
ความอันตรายแห่งยุคสมัยได้ แต่เมื่อเวลาผ่านมาทักษะดังกล่าวกลายเป็นเกมกีฬา
ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานด้านการศึกษาต้องตระหนักว่า
องค์ความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาการสอนให้ผู้เรียนมีทักษะในการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ สามารถอ่านวิเคราะห์และคิดอย่างมีวิจารณญาณ จึงจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้
ผู้เรียนพร้อมกับการแข่งขันที่รวดเร็ว ฉะนั้น ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้ามากเพียงใด อาจจะมียานยนต์ไร้คนขับ มีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) รวมถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data หากผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์จะทำให้เข้าใจได้ว่า
แก่นของเทคโนโลยีหรือ Big Data ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความล้ำสมัยหรือจำนวนฐานข้อมูล
แต่อยู่ที่ความสามารถในการประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์กับงานมากที่สุด 
       
ผู้ดำเนินรายการ :      ในทัศนะของท่านมองว่า หลักสูตรการศึกษาของไทยควรปรับสาระความรู้ใดให้ผู้เรียน
ทันต่อยุคสมัย 
       
นายอรรถการ ตฤษณารังสี :     สิ่งที่ทันสมัยอยู่เสมอคือ ความรู้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ในประเทศญี่ปุ่นมีการเพิ่มสาระความรู้เรื่องแผ่นดินไหว เพื่อให้นักเรียนสามารถเอาตัวรอดได้หากเกิดภัยพิบัติ สำหรับหลักสูตรการเรียนของประเทศไทยในปัจจุบันถือว่าก้าวหน้าขึ้นมาก แม้ว่าจะไม่มีหลักสูตรเรื่องทักษะการดำเนินชีวิตในประจำวัน แต่หลายหน่วยงานได้ร่วมกันจัดโครงการเพื่อเพิ่มพูนทักษะชีวิตให้นักเรียน อย่างเช่นโครงการ “หนูน้อยปลอดภัย สร้างวินัยจราจร”
ซึ่งผมในฐานะที่เป็นประธานสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีซันชิโร่ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนำความรู้เรื่องเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นมาสอนให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ในโรงเรียนนำร่อง จำนวน ๑๐ โรงเรียน อาทิ โรงเรียนพญาไท โรงเรียนราชวินิต และโรงเรียนวัดพลับพลาชัย กิจกรรมแบ่งเป็น ๔ ฐาน ได้แก่ ๑) การเอาตัวรอดเมื่อติดอยู่ในรถ ๒) การเรียนรู้จุดบอดของรถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการถอยรถ ๓) ความปลอดภัยก่อนลงจากรถ และ ๔) การข้ามถนนปลอดภัย กิจกรรมนี้จะช่วยให้นักเรียนได้เข้าใจกฎจราจรและสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย ถือเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุในท้องถนนได้อีกทางหนึ่ง
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ปัจจุบันหน่วยงานภาคการศึกษา โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษามีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างไร เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์ “อาชีวะสร้างชาติ”
       
นายอรรถการ ตฤษณารังสี :     ขณะนี้หน่วยงานภาคการศึกษามีความร่วมมือกับผู้ประกอบการในภาคเอกชนมากขึ้น
โดยเฉพาะโครงการทวิภาคีที่ให้นักเรียนอาชีวศึกษาได้ฝึกอาชีพเฉพาะทาง โดยมีครูนิเทศจากสถานศึกษาและครูฝึกในสถานประกอบการทำหน้าที่ให้ความรู้และคำปรึกษาตลอดเวลาของการฝึกประสบการณ์ในบริษัท ทั้งนี้ ขอชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการที่ออกแบบหลักสูตรให้ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ในการให้คะแนนประเมินผู้เรียนที่เข้าฝึกงาน ทำให้เด็กมี
ความรับผิดชอบทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการอย่างไรก็ตาม ในอนาคตอยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนพัฒนาความร่วมมือในเชิงธุรกิจอย่างเช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัทไม่ได้รับผิดชอบเฉพาะการก่อสร้าง แต่มีการประชุม
ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรจากเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เมื่อต่างประเทศ
ต้องการจ้างบริษัทดังกล่าวจะต้องซื้อหลักสูตรรถไฟความเร็วสูงไปพร้อมกัน ถือเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างความร่วมมือในเชิงวิชาการได้ในระดับนานาชาติ สิ่งที่น่ากังวลคือ
ผู้เข้าเรียนสายอาชีวศึกษาในปัจจุบันมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผู้เรียนในสายสามัญ ภาครัฐจึงควรเร่งพัฒนาหลักสูตรและประชาสัมพันธ์ให้มีผู้สนใจเข้าเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น เพราะการศึกษาในระบบนี้จะเป็นการสร้างคนให้มีทักษะการทำงานจริง ตอบโจทย์การผลิตทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ขาดแคลน อาชีวศึกษาจึงเป็นกำลังสำคัญที่สร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้อย่างดียิ่ง
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ในฐานะที่ท่านมีบทบาททั้งหน่วยงานผู้ผลิตและผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์
ท่านมองว่า ภาครัฐควรปรับทิศทางนโยบายการศึกษาอย่างไร เพื่อพัฒนากำลังคน
ในสาขาที่ขาดแคลน และผลักดันนโยบาย “เรียนจบแล้วมีงานทำ” ให้ประสบผลสำเร็จ
อย่างเป็นรูปธรรม
       
นายอรรถการ ตฤษณารังสี :    

หากหน่วยงานทางการศึกษาจัดเวทีรับฟังภาคเอกชนมากขึ้น เชื่อว่าจะมีหน่วยงานสำคัญ อาทิ สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับความสำเร็จในต่างประเทศ แนวทางเบื้องต้นอาจให้ศูนย์ความร่วมมือกับ
ภาคเอกชนที่มีในหลายมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เชื่อมโยง “สร้างองค์ความรู้เป็นเครือข่าย และสร้างเครือข่ายให้เป็นองค์ความรู้” โดยเชิญบุคคลจากหลากหลายสาขาวิชาชีพทั้งในอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ และการลงทุน มาให้ความรู้กับนิสิตนักศึกษา พร้อมกับสร้างเครือข่ายให้นิสิตนักศึกษาได้ฝึกงานและนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาบริษัทที่เข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

 

สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐไม่ควรรอให้ภาคเอกชนเข้ามาเสนอความร่วมมือเพียงฝ่ายเดียว
แต่ควรทำงานเชิงรุก เช่น จัดกิจกรรมออกบูธ และโรดโชว์ (Roadshow) เพื่อนำเสนอประโยชน์ของโครงการและความพร้อมของหน่วยงานการศึกษา โดยอาจมีการลงนาม
ความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โครงการที่มีแนวทางดำเนินการสอดคล้องกัน คือ โครงการอาชีวะ “สร้างคนดี มีอาชีพ” ซึ่งได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการมอบทุนการศึกษาและสรรหาครูจิตอาสาจากสถานประกอบการ เพื่อช่วยสอนในช่วงภาคค่ำและช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้นักเรียนได้รับความรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรง พร้อมทั้งครูจิตอาสาจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถานศึกษา นอกจากนี้ภาครัฐควรพัฒนาหลักสูตรทวิภาคีให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน สามารถนำไปใช้เป็นทุนการศึกษาให้ตนเอง พร้อมทั้งต่อยอดให้ประกาศนียบัตรในหลักสูตรทวิภาคีเป็นเอกสารทางวิชาชีพ
ที่ช่วยเพิ่มเงินเดือนให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้กับผู้ปกครองมั่นใจว่าเมื่อส่งบุตรหลานเข้าเรียนหลักสูตรทวิภาคีแล้วจะทำให้บุตรหลานมีทักษะเฉพาะทาง
ตรงกับความต้องการของหลายบริษัท แนวทางดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาเท่านั้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลักสูตรทุกระดับ เพราะการเรียนรู้ในโลกปัจจุบันไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียน การฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการหรือหน่วยงานต่างๆ
เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่เชื่อมโยงกับสายอาชีพได้ หากรัฐบาล
ผสานความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างจริงจังจะช่วยผลักดันนโยบาย “เรียนจบแล้วมีงานทำ” ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ ท่านนายอรรถการ ตฤษณารังสี กรรมการสภาการศึกษา ในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชน ฝากข้อคิดที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
นายอรรถการ ตฤษณารังสี :    

การพัฒนาการศึกษามี ๒ ระดับสำคัญ คือ ๑) ระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น มหาวิทยาลัยต้อง
ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น เพื่อให้คนกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เจริญ
๒) ระดับประเทศ หน่วยงานภาคการศึกษาต้องคำนึงถึงการผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะ
ตอบโจทย์การแข่งขันระดับประเทศและระดับสากลและสามารถเรียนรู้ได้ทัน
ความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งนี้ การพัฒนาคนจะต้องยึดมั่นในหลักการที่ว่า
การประสบความสำเร็จที่แท้จริง คือการเป็นคนที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม 

 

ผู้สนใจสามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการ
สภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา” 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ นายอรรถการ ตฤษณารังสี กรรมการสภาการศึกษา ในฐานะ
ผู้แทนองค์กรเอกชน ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด