สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “ภูมิปัญญาไทยสู่การสร้างมรดกวัฒนธรรมแห่งเมืองนครพนม

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :     
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูประหัส มันตะ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๕ ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมสนทนาประเด็น “ภูมิปัญญาไทยสู่การสร้างมรดกวัฒนธรรมแห่งเมืองนครพนม”
 
ทราบมาว่า ครูประหัส มันตะ ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๕ ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งกลอนเพลง จนได้ก่อตั้งวงดนตรีพื้นบ้านศรีโคตรบูรณ์ และประพันธ์บทละคร “พระธาตุพนมมหาเจดีย์สองฝั่งโขง” ซึ่งใช้ในงานประเพณีสำคัญของจังหวัดนครพนม จนได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ของจังหวัดนครพนม เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ ๒๕๕๕ รวมถึงรางวัลอื่นๆมากมายก่อนอื่นขอให้ ครูประหัส เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานและผลงานการประพันธ์ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยส่งเสริมให้จังหวัดนครพนมเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงในทุกวันนี้
       
ครูประหัส มันตะ :     
ครูเกิดในครอบครัวที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก คุณยายเป็นนักเทศน์มหาชาติและมีความสามารถในการแต่งกลอน “ผญา” ซึ่งเป็นกลอนของภาคอีสาน คุณแม่ชอบอ่าน “หนังสือผูก” เป็นวรรณกรรมที่จารึกไว้ในใบลานให้ครูฟัง เมื่อถึงวัยเรียนครูได้เรียนรู้ฉันทลักษณ์และเริ่มเขียนบทอาศิรวาทประกวดเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือของโรงเรียน ในวัยทำงานแม้ว่าครูจะสอนรายวิชาคณิตศาสตร์แต่ครูยังคงแต่งกลอนเพลงเพื่อใช้ในงานพิธีต่างๆของโรงเรียน ฉันทลักษณ์ที่นิยมแต่งมีทั้งร่ายยาวที่ใช้แต่งผญา โคลงสี่สุภาพที่เหมาะกับการอวยพร รวมถึงเสภาและบทละครที่นำไปผสานกับการแสดงดนตรี เพื่อใช้ในงานประเพณีท้องถิ่น 
 
จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดชายแดนติดแม่น้ำโขงที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งจากการร่ายรำและการแต่งกายที่มีรูปแบบเฉพาะหลายหลายชนเผ่า อาทิ ชนเผ่าผู้ไทย ชนเผ่าไทยญ้อ และชนเผ่าไทยกะเลิง รวมถึงประเพณีท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงอย่างเช่นประเพณีไหลเรือไฟ และประเพณีนมัสการพระธาตุพนม ซึ่งครูได้แต่งบทละคร “พระธาตุพนมมหาเจดีย์สองฝั่งโขง” โดยมุ่งหวังให้เป็นพุทธบูชาในงานดังกล่าว การแต่งบทกลอนเพลงประกอบการ “เซิ้งคารวะ” ใช้ในงานสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนี้มีความเรียงประวัติอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ซึ่งจารึกไว้ที่ปูนียสถานบรรจุอัฐิภายในวัดถือเป็นอีกผลงานหนึ่งที่ช่วยให้สาธารณชนรับทราบและร่วมภูมิใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทย
       
ผู้ดำเนินรายการ :        ในฐานะการเป็นวิทยากรประจำศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูร วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ครูประหัสมีกลวิธีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักเรียนและชุมชนอย่างไร
       
ครูประหัส มันตะ :      
การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ เป็นการบอกเล่าตำนานท้องถิ่น ประเพณีทางพระพุทธศาสนา และประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยให้นักเรียนและประชาชนที่สนใจได้อ่านศิลาจารึกและฝึกสังเกตศิลปะในแต่ละยุคจากพระพุทธรูปที่จัดแสดง นอกจากนี้ครูได้ประสานงานกับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้วัดพระธาตุพนม ได้แก่ โรงเรียนวัดพระธาตุพนม พนมวิทยาคาร และโรงเรียนบ้านหัวบึงทุ่ง (เขตการทางนครราชสีมาสงเคราะห์ ๓) โดยนำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของจังหวัดนครพนม ในงานประเพณีไหลเรือไฟสองฝั่งโขงซึ่งมีประชาชนจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเข้าร่วมงานด้วย
       
ผู้ดำเนินรายการ :      อยากให้ ครูประหัส แนะนำว่าหน่วยงานด้านการศึกษาควรมีแนวทางส่งเสริมหรือพัฒนาทักษะการประพันธ์กลอนหรือเพลงท้องถิ่นอย่างไร เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้สืบสาน และนำมาเผยแพร่ในฐานะภูมิปัญญาไทยได้อย่างเหมาะสม
       
ครูประหัส มันตะ :     ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเสริมให้มีการสอนหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในหลากหลายด้าน ในด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ครูได้เขียนหนังสือประวัติการตั้งถิ่นฐานของพระธาตุพนมและนำไปมอบให้โรงเรียนในจังหวัดนครพนมใช้ในหลักสูตรดังกล่าว สิ่งที่หน่วยงานด้านการศึกษาควรสนับสนุนเพิ่มเติม คือ การให้นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีของท้องถิ่น อย่างเช่นในจังหวัดนครพนมมีการจัดถนนคนเดินวัฒนธรรมในทุกวันเสาร์ บางพื้นที่มีถนนวัฒนธรรมชนเผ่า หากนักเรียนได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงศิลปะประเพณี รวมถึงเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ครูเชื่อว่าการปฏิบัติจริงจะช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมด้วยตนเอง และเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทยต่อไป 
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สุดท้ายนี้ ขอให้ ครูประหัส มันตะ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๕ ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูประหัส มันตะ :    
ทุกท้องถิ่นมีประวัติศาสตร์อันเป็นที่มาของประเพณีและวรรณกรรมที่ควรค่าแก่การสืบทอด การรักษาขนบธรรมเนียมอันดีงามจึงไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทุกคนต้องร่วมมือกันผู้ใหญ่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม โดยมีเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกิจกรรม ทำให้ได้เรียนรู้ มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น และช่วยสืบสานประเพณีให้คงอยู่จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชุมชนต่อไป 
 
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูประหัส มันตะ รุ่นที่ ๕ ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
     
*****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด