สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น "ครูผู้สร้างสรรค์ "เมนูลำไย" ด้วยภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่น"
ผู้ดำเนินรายการ : |
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูสุนทร บุญมี ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านโภชนาการ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ครูผู้สร้างสรรค์ "เมนูลำไย" ด้วยภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่น” ทราบมาว่า ครูสุนทร บุญมี ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านโภชนาการ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารพื้นเมืองและอาหารแปรรูปจากลำไย จนได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรของสถาบันวิจัยลำไย จังหวัดลำพูน รวมถึงเป็นทูตวัฒนธรรมด้านอาหารไทยของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไปเผยแพร่การทำอาหารไทยในงาน Amazing Thailand Food Festival ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ขอเรียนถามครูสุนทรถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน และหลักคิดที่นำมาประยุกต์กับอาหารทีครูสร้างสรรค์ขึ้น |
||
ครูสุนทร บุญมี : |
ครูเป็นคนจังหวัดลำพูนและได้เรียนรู้ทักษะการทำอาหารจากคุณพ่อคุณแม่ซึ่งมีอาชีพค้าขายขนมจีนและขนมในตลาด หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ครูได้ศึกษาด้านโภชนาการเพิ่มเติมจากวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ครูได้เข้ารับราชการครูที่โรงเรียนป่าแดดวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ก่อนย้ายไปที่โรงเรียนธีรกานท์บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ในระยะแรกได้รับมอบหมายให้สอนกลุ่มทักษะวิชาภาษาไทย ภายหลังโรงเรียนไม่มีครูผู้สอนวิชาคหกรรม ครูจึงได้นำความรู้และประสบการณ์ด้านโภชนาการมาสอนวิชาคหกรรมให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งได้รับความสนใจมากจนมีผู้เข้าเรียนเต็มจำนวนที่นั่งในห้องเรียน
ครูเน้นให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติจริง รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำลำไยซึ่งเป็นผลไม้ที่มีมากในจังหวัดลำพูนมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ ในช่วงที่ไม่มีภาระงานสอนครูได้ใช้ลำไยมาประกอบอาหารคาวหวานหลายรายการ อาทิ น้ำพริกอ่องลำไย ขนมจีนน้ำเงี้ยวลำไย และขนมชั้นลำไย เมื่อครูได้รับเกียรติให้เป็นทูตวัฒนธรรมด้านอาหารไทยไปเผยแพร่การทำอาหารไทยในงาน Amazing Thailand Food Festival ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ครูได้นำน้ำพริกอ่องลำไยมาประยุกต์เป็นน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวสไตล์ฮ่องกง ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมาก สาเหตุที่นำลำไยมาใช้ประกอบอาหาร เนื่องจากเนื้อลำไยสามารถใช้แทนรสชาติเปรี้ยวจากวัตถุดิบอื่นๆ ได้ อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าของลำไยในช่วงที่ลำไยล้นตลาด
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | ขอให้ครูเล่าถึงหลักสูตรท้องถิ่นในสถานศึกษา รายวิชา "ของกิ๋นบ้านเฮา" และ "เมนูลำไย" ช่วงชั้นที่ ๔ ที่ครูได้นำภูมิปัญญามาบูรณาการในการสอน จนได้รับคัดเลือกให้เป็นครูผู้สอนคหกรรมดีเด่น และเป็นครูต้นแบบในการปฏิรูปการเรียนรู้สาขาคหกรรม | ||
ครูสุนทร บุญมี : | รายวิชา "ของกิ๋นบ้านเฮา" และ "เมนูลำไย" เกิดจากความตั้งใจที่เห็นว่า เยาวชนนิยมบริโภคอาหารตะวันตกมากขึ้น จนเกรงว่าจะไม่รู้จักอาหารพื้นบ้านที่มีประโยชน์ จึงเปิดสอนรายวิชาดังกล่าวเพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านล้านนา ซึ่งมีพืชผักท้องถิ่นที่อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในแต่ละคาบเรียนจะมีการกำหนดเมนูจะสัมพันธ์กับพืชผักในแต่ละฤดู เช่นในฤดูฝนมีเห็ดเผาะจำนวนมาก นักเรียนสามารถหาวัตถุดิบมาสร้างสรรค์เมนูได้ง่าย อาทิ เห็ดเผาะชุบแป้งทอด และเห็ดเผาะยัดไส้ลำไย นอกจากนี้ ครูได้นำความรู้วิชาภาษาไทยมาตั้งชื่ออาหารให้น่าสนใจ เช่น หนุมานหลงป่า โดยเอาจิ้งหรีด ซึ่งเป็นแมลงพื้นบ้านทางภาคเหนือมาแกงคั่วกับผักพื้นบ้านรับประทานกับข้าวสวยสีดอกอัญชัน | ||
ผู้ดำเนินรายการ : | ครูสุนทร มีกลวิธีในการขยายผลองค์ความรู้ให้นักเรียนและชุมชนอย่างไร | ||
ครูสุนทร บุญมี : |
ครูเชื่อว่าหัวใจของการถ่ายทอดความรู้คือ ผู้สอนต้องเชี่ยวชาญและสามารถสาธิตทักษะการทำอาหารของตนให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกศรัทธาจนอยากนำไปปฏิบัติตามได้ รูปแบบการสอนของครูจึงมีทั้งการสาธิต การสอนผ่านสื่อ youtube และต้องให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างตามกลุ่มผู้เรียน หากเป็นการสอนในชั้นเรียนครูจะเน้นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้เด็กได้เข้าแข่งขันการทำอาหารในระดับชั้นต่าง ๆ แต่หากเป็นกลุ่มแม่บ้านจะเน้นรายละเอียดด้านขั้นตอนการปรุงและรสชาติ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสำหรับนำไปสร้างรายได้เสริมต่อไป ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ซาลาเปาหมูสับไส้ลำไย ขนมชั้นลำไย และเค้กลำไย ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านที่ผลิตอาหารแปรรูปจากลำไยได้พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนและมีอาหารหลายประเภทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับ ๕ ดาว ของจังหวัดลำพูน นอกจากงานด้านการสอน ครูได้ถ่ายทอดความรู้โดยเขียนคอลัมน์ “ของกิ๋นบ้านเฮา” ในวารสารร่มพะยอมของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันครูได้เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงรับเชิญไปเป็นวิทยากรด้านอาหารแปรรูปจากลำไย รวมถึงเป็นกรรมการตัดสินในการแข่งขันประกอบอาหารขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน |
||
ผู้ดำเนินรายการ : | อยากให้ครูสุนทรแนะนำว่า หน่วยงานด้านการศึกษาควรมีแนวทางส่งเสริมโภชนาการหรืออาหารพื้นเมืองอย่างไร เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้สืบสาน และนำมาเผยแพร่ในฐานะภูมิปัญญาไทยได้อย่างเหมาะสม | ||
ครูสุนทร บุญมี : |
ครูอยากให้หน่วยงานด้านการศึกษาจัดโครงการนำนักเรียนไปเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยด้านโภชนาการและด้านอื่นๆ ถึงแหล่งวัตถุดิบและศูนย์การผลิตจริง หากนักเรียนได้ศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นจะช่วยให้เกิดความเข้าใจตั้งแต่การอนุรักษ์พืชพันธุ์ การคัดสรรวัตถุดิบ ตลอดจนการนำประกอบอาหารและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งช่วยให้นักเรียนสามารถนำไปบอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้และเกิดความรู้สึกหวงแหนภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นตนเองได้
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | สุดท้ายนี้ ขอให้ ครูสุนทร บุญมี ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านโภชนาการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา | ||
ครูสุนทร บุญมี : |
ในปัจจุบันมิติทางด้านอาหารได้ก้าวไกลไปมาก คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการบริโภคมากขึ้น สังเกตได้จากสื่อสังคมต่าง ๆ ทั้งใน Facebook และ Youtube ที่มาทั้งรายการแข่งขันประกอบอาหาร คลิปพาชิมและสอนปรุงอาหาร ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อเรารับสิ่งใหม่เข้ามา ขอให้ทุกคนอย่าลืมรากเหง้าของวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย อาจเริ่มจากการผสานวัตถุดิบจากพืชผักพื้นบ้านในการแข่งขันประกอบอาหาร หรือเพิ่มอาหารพื้นเมืองในช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งต่อคุณค่าและอนุรักษ์ตำรับอาหารท้องถิ่นไม่ให้หายไปกับกาลเวลา
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : |
สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูสุนทร บุญมี ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านโภชนาการ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
|
||
***************************************************** |