สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “ครูผู้สืบสานภูมิปัญญาการขับซอพื้นเมืองและลูกทุ่งคำเมือง”
ผู้ดำเนินรายการ : |
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูบุญศรี รัตนัง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านศิลปกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ครูผู้สืบสานภูมิปัญญาการขับซอพื้นเมืองและลูกทุ่งคำเมือง” ทราบมาว่า ครูบุญศรี รัตนัง ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านศิลปกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับซอพื้นเมืองและประพันธ์เพลงลูกทุ่งคำเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จนได้รับฉายาว่า “ขุนพลเพลงลูกทุ่งล้านนา” ก่อนอื่นขอให้ครูบุญศรีเล่าถึงที่มาของฉายาและจุดเริ่มต้นของการทำงาน |
||
ครูบุญศรี รัตนัง : |
ครูเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้เรียนรู้การเล่นซึงและสะล้อ มาตั้งแต่อายุ ๕ ปี จนเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ครูได้ตั้งวงดนตรีพื้นเมืองประจำหมู่บ้านร่วมกับเพื่อนๆ และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพ่อครูจันทร์ตา ตันเงิน เพื่อเรียนการเป่าปี่และการขับซอจนเกิดความเชี่ยวชาญ จากนั้นครูได้ร่วมเล่นดนตรีและละครซอกับคณะแสดงต่างๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง โดยได้นำทำนองการขับซอพื้นเมืองมาประยุกต์ให้เข้ากับดนตรีร่วมสมัยจนได้ออกอัลบั้มและมีเพลงที่ได้จดลิขสิทธิ์รวม ๑,๔๐๐ เพลง สื่อมวลชนจึงให้ฉายาว่า “ขุนพลเพลงลูกทุ่งล้านนา” ผลงานที่ครูสร้างสรรค์มีหลายประเภท อาทิ เพลงลูกทุ่งคำเมือง เพลงซอพื้นเมือง การแต่งค่าว จ้อย บทละคร และการแหล่ประวัติศาสตร์พ่อขุนเม็งรายมหาราช
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | การขับซอพื้นเมือง รวมถึงดนตรีคำเมืองที่มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น ค่าว และจ้อย มีจุดเด่นและเนื้อหาที่สะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวล้านนาได้อย่างไร | ||
ครูบุญศรี รัตนัง : | การขับซอพื้นเมืองและเพลงลูกทุ่งคำเมืองมีจุดเด่นจากการใช้ภาษาท้องถิ่นที่ให้เสียงนาสิก หรือการออกเสียงขึ้นจมูก เช่น “รัก” เป็น “ฮัก” และ “กินข้าว” เป็น “กิ๋นข้าว” บทเพลงล้านนาจึงมีความไพเราะและเป็นเอกลักษณ์ ส่วนการประพันธ์ที่มีชื่อเรียกเฉพาะอย่างค่าวและจ้อย มีท่วงทำนองและเนื้อหาที่แตกต่างกัน ส่วนมากการแต่งค่าวจะใช้เพื่อแฝงคติธรรม เช่น ค่าวเกี่ยวกับการทำบุญ และบทละครค่าวธรรมเรื่อง “จั๋นตะกุมาร” สำหรับจ้อยมีเนื้อหาเชิงเกี้ยวพาราสี หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า “แอ่วสาว” ปัจจุบันครูได้ประยุกต์การแต่งจ้อยที่มีเนื้อหาถึงวิถีชีวิตและกระแสวัฒนธรรมยุคใหม่ เช่น จ้อยที่ใช้สอนลูกหลานให้ลดการเล่นสื่อโซเชียลและหันมาช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านให้มากขึ้น | ||
ผู้ดำเนินรายการ : | ครูบุญศรี มีหลักในการทำงานและการขยายผลองค์ความรู้ให้นักเรียนและชุมชนอย่างไร | ||
ครูบุญศรี รัตนัง : | การประพันธ์เพลงมีแรงบันดาลใจจากแนวคิด จินตนาการ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง รวมถึงคติความเชื่อและประเพณี เพื่อให้ผู้ฟังนำไปไตร่ตรองและปฏิบัติตนให้เป็นคนดีของสังคม นอกจากนี้ ครูได้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนนักศึกษาในหลายสถาบัน เช่น โรงเรียนสันทรายหลวง โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการเข้าจังหวะ การต่อเพลง และการไล่ตัวโน้ต ซึ่งครูได้จัดทำซีดีสำหรับฝึกหัดซอเบื้องต้นประกอบการเรียนการสอน รวมถึงจัดตั้ง “ศูนย์สืบสานรอยล้านนาภูมิปัญญาไทย” ภายในบริเวณบ้านพัก เพื่อให้ผู้สนใจได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมที่มีค่าของชาวล้านนา | ||
ผู้ดำเนินรายการ : | อยากให้ ครูบุญศรี แนะนำว่าหน่วยงานด้านการศึกษาควรมีแนวทางส่งเสริมหรือพัฒนาทักษะการประพันธ์เพลงอย่างไร เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้สืบสาน และนำมาเผยแพร่ในฐานะภูมิปัญญาไทยได้อย่างเหมาะสม | ||
ครูบุญศรี รัตนัง : |
การสืบสานดนตรีพื้นบ้านรวมถึงภูมิปัญญาไทยสาขาต่างๆ จะรอให้มีผู้สนใจมาศึกษาเรียนรู้จากครูภูมิปัญญาไทยเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ หน่วยงานด้านการศึกษาควรส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ภูมิปัญญาในถิ่นฐานของตนอย่างเป็นรูปธรรม อาจเริ่มจากการจัดตารางเรียนให้มีวิชาเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย วันละ ๓๐ นาที ปัจจุบันครูได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ในการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านอักขระล้านนาและดนตรีพื้นบ้านให้แก่นักเรียนในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ ซึ่งครูเชื่อว่า ครูภูมิปัญญาไทยทุกท่านยินดีช่วยสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นการคืนกำไรสู่สังคมพร้อมกับส่งมอบมรดกวัฒนธรรมอันมีค่าของแผ่นดินให้แก่ลูกหลานต่อไปด้วย
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | สุดท้ายนี้ ขอให้ ครูบุญศรี รัตนัง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านศิลปกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา | ||
ครูบุญศรี รัตนัง : |
เครื่องดนตรีทุกประเภททั้งเครื่องดีด สี ตี และเป่า นอกจากให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟังแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เยาวชนไทยทุกคนจึงควรตระหนักถึงคุณค่าและร่วมเรียนรู้เพื่อสืบสานศาสตร์ภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ไว้ไม่ให้สูญหาย
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : |
สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูบุญศรี รัตนัง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านศิลปกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
|
||
***************************************************** |