สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “ครูผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมจากภูมิปัญญาเกษตรกรรมไทย”
ผู้ดำเนินรายการ : |
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูจรัส โยธา ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ ด้านเกษตรกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ครูผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมจากภูมิปัญญาเกษตรกรรมไทย”
ทราบมาว่า ครูจรัส โยธา ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ ด้านเกษตรกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้จัดตั้ง “ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดอุทัยธานี” เพื่อถ่ายทอดความรู้การเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน จนเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค ขอเรียนถามครูจรัสถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน และหลักคิดที่นำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่การเกษตรของตน
|
||
ครูจรัส โยธา : |
ครูเติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกรรม ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในวัยเด็กรวมถึงการศึกษาดูงานและเข้าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ภายหลังจึงได้ประยุกต์ความรู้และริเริ่มคิดค้นสูตรน้ำชีวภาพต่าง ๆ พร้อมกับปรับพื้นที่ทำกินตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยเริ่มจากจัดพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย ๒ งาน ปลูกข้าวทำนา ๔ ไร่ ปลูกลำไย มะม่วง และขุดบ่อน้ำเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และพืชผัก ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น การเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ช่วยสร้างฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น สามารถประสบความสำเร็จด้านอาชีพโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ครูจึงจัดตั้งศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดอุทัยธานี เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ผู้สนใจ
|
||
ผู้ดำเนินรายการ :
|
ครูจรัส มีหลักในการทำงานและการขยายผลองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร
|
||
ครูจรัส โยธา : | ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดอุทัยธานีมีหลักสูตรการเรียนรู้ระยะเวลา ๒ คืน ๓ วัน โดยเริ่มสอนตั้งแต่การเตรียมการก่อนการผลิต การเตรียมดิน การปลูกต้นไม้ การทำนาที่ถูกวิธี โดยเน้นการทำนาปลอดสารพิษ เนื่องจากชาวบ้านจังหวัดอุทัยธานีมีพื้นนาเป็นของตัวเองจำนวนมาก ปกติมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ ๑ - ๒ รุ่นต่อปี ซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกปฏิบัติจริงจากฐานเรียนรู้ ๔ ฐาน ได้แก่ ๑) ฐานปลูกต้นไม้ ๒) กองทุนชุมชน ๓) การทำนาลดต้นทุน และ ๔) การจัดการเรื่องน้ำ นอกจากด้านองค์ความรู้แล้ว ยังมีการปลูกฝังด้านความคิด ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีจิตสำนึกรักบ้านเกิดและกลับไปฟื้นฟูถิ่นฐานของตนต่อไป | ||
ผู้ดำเนินรายการ : |
ขอให้ครูเล่าถึงนวัตกรรมใหม่ที่ครูคิดค้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ น้ำหมักชีวภาพสูตรควบคุมและกำจัดหญ้า ปุ๋ยอินทรีย์หมักแห้งอัดเม็ดจากมูลค้างคาว ถังหมักแก๊สเพื่อการหุงต้ม และเตาเผาถ่านอเนกประสงค์ครบวงจร
|
||
ครูจรัส โยธา : |
สูตรการทำน้ำหมักและปุ๋ยอินทรีย์หมักแห้งอัดเม็ดได้มาจากการใช้แร่ธาตุผสมทั้งมูลสัตว์ค้างคาว ส่วนนวัตกรรมที่เกี่ยวกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยหมักชีวภาพ มาจากการทำเกษตรทั้งสวนผลไม้ เช่น มะม่วง ลำไย ทุเรียน และการเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ทำให้ได้มูลสัตว์และซากพืชมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นอกจากนี้ ครูได้คิดค้นน้ำหมักชีวภาพสูตรต่าง ๆ เพื่อใช้ทำการเกษตร แบบไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี นวัตกรรมที่ครูสร้างสรรค์ขึ้นเป็นการวิจัยแบบวิถีชาวบ้าน มีการทดลองและสังเกตผล เช่นการใช้ปุ๋ยร่วมกับนาข้าว โดยปูเป็นชั้นปุ๋ยรองพื้นนาก่อนการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ต้นข้าว ทำให้ได้ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ ส่วนน้ำหมักชีวภาพสูตร ๑ ที่ครูคิดค้นสูตรขึ้น สามารถช่วยเร่งการออกดอกและทำให้ได้ผลผลิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นวัตกรรมเหล่านี้นอกจากให้ผลผลิตที่ดีแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนตั้งแต่การผลิตปุ๋ยและน้ำหมัก และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้สารเคมี
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | อยากให้ครูแนะนำว่า การศึกษาไทยควรปรับวิธีการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้เด็กได้ซึบซับภูมิปัญญาโดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม | ||
ครูจรัส โยธา : |
โรงเรียนควรปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักรักถิ่นฐาน เมื่อนักเรียนสำเร็จการศึกษา จะได้กลับมาฟื้นฟูสถาบันครอบครัวของตนแทนที่จะไปประกอบอาชีพรับจ้างในเมืองใหญ่ ครูคิดว่าการรับจ้าง คือ การที่บริษัทเอากำไรจากแรงงานของเรา แต่ถ้าเราทำเกษตรกรรม เราจะเป็นนายของเราเอง สามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร และมีเวลากับครอบครัวมากขึ้นด้วยปัจจุบันครูได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศและเกษตรอินทรีย์ ทั้งในสถานศึกษาและกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร รวมถึงทางสถานีวิทยุจังหวัดอุทัยธานี เพื่อส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | สุดท้ายนี้ ขอให้ ครูจรัส โยธา ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ ด้านเกษตรกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา | ||
ครูจรัส โยธา : |
หน่วยงานทางด้านการศึกษาต้องฝึกฝนเด็กให้รู้จักปฏิบัติในแนวเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักวิธีปลูกพืชให้ถูกต้องจนเกิดเป็นผลผลิตที่สามารถนำไปบริโภคและจำหน่ายได้ ถือเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักแก้ปัญหา เมื่อเด็กทำได้จะเกิดความภูมิใจและตั้งใจฝึกฝนทักษะการเกษตร รวมถึงทักษะต่างๆ ในชีวิตให้ดีขึ้น อีกทั้ง หากเด็กสามารถสร้างรายได้จากการเกษตรในโรงเรียน จะช่วยให้เด็กมีความเชื่อมั่นและอาจนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
|
||
ผู้ดำเนินรายการ : | สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูจรัส โยธา ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ ด้านเกษตรกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา | ||
*****************************************************
|