สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น เปิดกฎหมาย “เด็กปฐมวัย ๒๕๖๒”

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก ร่วมสนทนาประเด็น เปิดกฎหมาย “เด็กปฐมวัย ๒๕๖๒”
 
ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ ขอเรียนถามท่านรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ) เล่าถึงที่มาและความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :    
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ถือเป็นกฎหมายแรกของประเทศไทยที่มุ่งพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยตรง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย
 
เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ และมาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษา (๑) ได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมวัย คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปประเทศ (กอปศ.) จึงได้นำร่างกฎหมายเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย มาวิเคราะห์ร่วมกับรายงานการวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอน และข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นจากเด็ก ผู้ปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรับผิดชอบดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากถึง ๒๐,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ มาจัดทำเป็น พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้เด็กในช่วงรอยต่อตั้งแต่ก่อนระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษา รวมทั้งเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ มีสาระสำคัญอย่างไร 
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :     
 “เด็กปฐมวัย” ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คือ เด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่าหกปีบริบูรณ์ และให้หมายความรวมถึงเด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา เป้าหมายสำคัญของ พ.ร.บ. คือ การส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ ตามแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่กำหนดไว้เป็นวัตถุประสงค์ ๖ ประการ ดังนี้  
 
๑) ให้มารดาได้รับการดูและในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อให้บุตรที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาวะและพัฒนาการที่ดี 
๒) ให้เด็กปฐมวัยอยู่รอดปลอดภัยและได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการล่วงละเมิดไม่ว่าทางใด
๓) ให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ดีรอบด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย เพื่อให้เกิดทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สามารถเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลและความต้องการจำเป็นพิเศษ
๔) สร้างคุณลักษณะให้เด็กปฐมวัยมีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้
๕) บ่มเพาะเจตคติของเด็กปฐมวัยให้เคารพคุณค่าของบุคคลอื่น มีจิตวิญญาณของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเสมอภาค และมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก
๖) ให้ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยได้รับรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในการพัฒนาเด็กปฐมวัย
 
ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง มีภารกิจร่วมกันดำเนินการเพื่อให้มีการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยกำหนด 
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่และกลไกการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นอย่างไรบ้าง
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :    
คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้านการศึกษา ด้านการศึกษาพิเศษ ด้านการสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านสื่อสารมวลชน ด้านละหนึ่งคน รวมถึงมีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากหน่วยงานที่ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ
 
คณะกรรมการ ฯ มีหน้าที่สำคัญคือ การจัดทำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษา ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ โดยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยนำไปปฏิบัติ 
 
สำหรับกลไกการบูรณาการการทำงาน เริ่มตั้งแต่การดูแลสุขภาพและให้ความรู้คุณแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ การดูแลเด็กแรกเกิด โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจนเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จะสานต่อในด้านการพัฒนาทักษะของเด็กจนถึงวัยเรียนในระดับชั้นอนุบาล ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกันส่งเสริมสมรรถนะของเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัยต่อไป นอกาจากนี้ พ.ร.บ. ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีหน้าที่จัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการของหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าที่สุดในการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์
       
ผู้ดำเนินรายการ :     นอกจากการส่งเสริมด้านพัฒนาการแล้ว พระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กพิการ รวมถึงการเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมอย่างไร
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :     
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาเด็กปฐมวัยฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับร่างพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติซึ่งได้ระบุไว้ว่า เด็กไทยทุกคนจะต้องได้รับโอกาสการเรียนรวมกับห้องเด็กกลุ่มปกติ อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมนั้นเด็กที่มีความพิการหรือเด็กพิเศษอาจจะต้องมีความสามารถในระดับหนึ่งที่จะเข้าเรียนรวมกับเด็กกลุ่มปกติได้ ฉะนั้น หากเด็กยังไม่มีความพร้อมจะต้องเริ่มพัฒนาเด็กตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย โดยศูนย์การศึกษาพิเศษหรือการจัดห้องเรียนเฉพาะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเด็กพิเศษแต่ละประเภทให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตามความต้องการจำเป็นพิเศษที่แตกต่างกัน จนเด็กมีการพัฒนาที่ดีขึ้นจึงสามารถส่งเด็กเข้าเรียนร่วมกับเด็กในห้องเรียนปกติได้ ทั้งนี้ การจัดการศึกษามีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจึงได้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ โดยมีประเด็นสำคัญคือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งกลุ่มเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นเป็นพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะร่วมประสานงานและให้ข้อมูลแก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้การส่งเสริมทักษะที่สมวัยต่อไป 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ ท่านรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ) ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมาว่า ควรปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างไร เพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพเด็กปฐมวัยในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :    

สิ่งสำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องตระหนักร่วมกันว่า การดูแลเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว องค์กรเอกชนและชุมชนต้องร่วมกันเสริมพลังให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง และให้ผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ดูแลบุตรหลานของตนอย่างที่สุด ปัจจุบันมีมารดาที่ได้รับการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพเพียงร้อยละ ๕๐ – ๖๐ หากมารดาไม่ได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่ตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึง ๘ ขวบเป็นการวางรากฐานทั้งชีวิต เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมีการเติบโตของสมองมากถึงร้อยละ ๘๐ เด็กที่เกิดมาจึงควรได้รับนมแม่เป็นเวลา ๖ เดือน การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้มุ่งสร้างความเข้าใจใหม่กับสังคมว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยไม่ใช่การเร่งทักษะอ่าน - เขียน แต่คือ การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะสมอง 

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org  Facebook Fanpage“ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” อีเมล [email protected] นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก  ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด