สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “Zero Waste” ชุมชนปลอดขยะ ด้วยภูมิปัญญาไทย

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ : 

 

 

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก กำนันมานพ  ชัยบัวคำ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “Zero Waste” ชุมชนปลอดขยะ ด้วยภูมิปัญญาไทย

 

ทราบมาว่า กำนันมานพ ชัยบัวคำ ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้นำที่พัฒนาชุมชนให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) จนได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานบ้านสวยเมืองสุข และหมู่บ้านปลอดขยะ ก่อนอื่นขอให้กำนันมานพเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานและแนวทางการสร้างหมู่บ้านปลอดขยะ

 

 

 

 

กำนันมานพ ชัยบัวคำ :

 

 

กำนันได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste บ้านโป่งศรีนคร ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย 

 

การทำงานเพื่อสร้างหมู่บ้านปลอดขยะเริ่มจากการศึกษาเส้นทางขยะที่เข้ามาในชุมชน จำกัดขยะจากนอกชุมชน และร่วมกันคิดวิธีบริหารจัดการขยะให้เกิดประโยชน์ จากการสำรวจพบว่า ขยะที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมากที่สุดคือ ขยะเปียก เศษอาหาร เปลือกผลไม้ ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ จึงได้นำภูมิปัญญาการทำ “เสวียน” มาช่วยแก้ปัญหา โดยนำไม้ไผ่มาสานรอบโคนต้นไม้เพื่อใช้เก็บใบไม้ นำขยะเปียก ขยะอินทรีย์มาใส่ เมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ หากจัดการเรื่องขยะเปียกได้ ขยะในชุมชนจะลดลงได้มากกว่าครึ่ง นอกจากนี้ ยังรณรงค์ให้ชาวบ้านใช้ใบตองแทนถุงพลาสติกเนื่องจากย่อยสลายง่าย หากมีขยะประเภทกระป๋องน้ำ ฝาขวด หรือขยะอื่น ๆ จะมีการรวมกลุ่มกันประดิษฐ์โคมไฟหรือนวัตกรรมอื่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :  

 

 

กำนันมานพ มีหลักในการทำงานและการขยายผลองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร

 

 

 

 

กำนันมานพ ชัยบัวคำ :

 

 

ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ของการกำจัดขยะร่วมกัน โดยมีแนวคิดว่า การสร้างหมู่บ้านปลอดขยะจะต้องทำให้คนในชุมชน "สุขภาพดี มีตังค์ ยั่งยืน" เริ่มจากการใช้ขยะอินทรีย์มาเป็นปุ๋ย ทำให้สามารถปลูกผักปลอดสารพิษ สัตว์ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดมลภาวะสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ มีการเชิญชวนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำสิ่งประดิษฐ์จากขยะเพื่อสร้างรายได้ และต้องไม่ให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน โดยชาวบ้านจะแบ่งปันวัสดุระหว่างครัวเรือนตามความเชี่ยวชาญ เช่น กลุ่มผลิตของใช้จากซองกาแฟ เมื่อมีขยะประเภทฝาขวดสามารถแบ่งให้กลุ่มที่ผลิตของใช้จากฝาขวด สิ่งเหล่านี้ทำให้ขยะมีประโยชน์ สร้างรายได้ เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

นอกจากการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ ทางชุมชนมีแนวทางเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนี้ให้ประชาชนทั่วไปอย่างไร 

 

 

 

 

กำนันมานพ ชัยบัวคำ :

 

 

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste บ้านโป่งศรีนคร มีหน่วยงานและประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานมากกว่า ๕,๐๐๐ คน นอกจากนี้ ยังมีโฮมสเตย์โป่งศรีนครที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักได้ระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ถึง ๓ มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นเทศกาลท่องเที่ยว "นอนกลางนา โป่งศรีนคร" การท่องเที่ยวของบ้านโป่งศรีนครใช้แนวคิดคันคายโฮมสเตย์ โดยให้นักท่องเที่ยวช่วยกันนำฟางมาปลูกกระท่อม มีหลักสูตรโรงเรียนนวัตกรรมโปร่งศรีนคร ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การจัดการขยะ เช่น กระป๋องน้ำอัดลมที่นักท่องเที่ยวถือติดมา สามารถนำมาใช้ประดิษฐ์เป็นของใช้ได้อย่างไร สอนเรื่องจักสาน การทำเกษตรอินทรีย์ การทำตลาด และให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การทำน้ำหมักไล่แมลงเพื่อนำไปฉีดรอบโฮมสเตย์ของตน อีกทั้งยังมีชาวบ้านมาช่วยสอนการหากุ้ง หอย ปู ปลา ให้นักท่องเที่ยวได้ช่วยกันจับสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติไปประกอบอาหาร ถือเป็นการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างแท้จริง

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ : 

 

 

ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดโครงการ “ทําความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” โดยให้หน่วยราชการและสถานศึกษาร่วมกันลดและคัดแยกขยะมูลฝอยภายในองค์กร ขอเรียนถามกำนันมานพถึงแนวทางที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

 

กำนันมานพ ชัยบัวคำ :

 

 

การปลูกฝังจิตสำนึกในการคัดแยกขยะต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช้การบังคับให้ทำ แต่สร้างกิจกรรมเชิญชวนให้เกิดการทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่นเดียวกับศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste บ้านโป่งศรีนคร ที่ไม่มีการกดดันชาวบ้าน ไม่เน้นหลักวิชาการแต่ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ทำง่าย เห็นผลจริง จนได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงาน 

 

บ้านโป่งศรีนครไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่สามารถใช้การจัดการขยะ เชื่อมไปถึงการทำเกษตรอินทรีย์ และการท่องเที่ยววิถีชุมชน กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว สร้างกระแสการบริโภคผักปลอดสารพิษ รวมถึงให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนนำความรู้มาร่วมกันพัฒนาชุมชน และเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป 

 

สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :  

 

 

สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ กำนันมานพ ชัยบัวคำ  ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา

 

 

 

 

 

 

 

*****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด