สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “ภูมิปัญญาไทย บ่งต้อด้วยหนามหวาย”

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูสมทบ สอนราช ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านการแพทย์แผนไทย ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น ภูมิปัญญาไทย “บ่งต้อด้วยหนามหวาย”
 
ทราบมาว่า ครูสมทบ สอนราช ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านการแพทย์แผนไทย ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไผ่รอบเหนือ จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญศาสตร์การ “บ่งต้อด้วยหนามหวาย” เพื่อรักษาต้อหิน ต้อลม ก่อนอื่นขอให้ครูสมทบเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานและขั้นตอนการบ่งต้อ ฯ
       
ครูสมทบ สอนราช :     

การบ่งต้อด้วยหนามหวาย เป็นภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีครูผู้ถ่ายทอดวิชานี้คือ คุณครูชะเอม ขุมเพชร และคุณครูสงคราม อินบัว มีผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่า ที่จังหวัดลพบุรีมีการรักษาด้วยศาสตร์นี้มาเกือบ ๔๐ ปีแล้วเช่นกัน วิธีการรักษา คือ การใช้หนามหวายที่เช็ดด้วยแอลกอฮอล์แล้วมาสะกิดบนผิวหนังตามแผ่นหลังที่มีสีผิวที่ผิดปกติซึ่งอาจเป็นร่องรอยของทางเดินระบบประสาท หรือระบบเลือดลมต่าง ๆ มีปัญหา โดยดึงจุดที่มีปัญหาสะสมเรื้อรังออกไป เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเอง สามารถรักษาอาการต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก รวมถึงอาการที่แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่แน่นอน เช่น จอประสาทตาเสื่อม และภาวะวุ้นตาเสื่อม หลังการรักษาแพทย์จะตรวจและติดตามอาการทางตา การรักษา ๑ ครั้ง ใช้เวลา ๓ วันติดต่อกัน ผู้ป่วยบางรายรักษาเพียงครั้งเดียวก็หายจากอาการ บางรายอาจต้องรักษาต่อเนื่องเป็นปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย 

สำหรับแพทย์ปัจจุบันมีข้อจำกัดของการเข้ารับการรักษา เช่น การรักษาต้อเนื้อ ในบางกรณีอาจกลับมาเป็นอีกหลังการรักษาเพียง ๑ เดือน หรือการเปลี่ยนเลนส์ต้อกระจก ซึ่งสามารถทำได้เพียงไม่กี่ครั้งเนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง แพทย์จึงมักทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะกรณีที่ต้อมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในจุดที่ปิดบังการมองเห็น ต่างจากการบ่งต้อด้วยหนามหวายที่ผู้ป่วยสามารถมารักษาต่อเนื่อง และหากมารักษาตั้งแต่อาการในขั้นต้นจะช่วยทำให้หายจากโรคทางตาได้เร็วขึ้น 

       
ผู้ดำเนินรายการ :      ขอให้ ครูสมทบเล่าถึงหนังสือคู่มือการศึกษาหลักเภสัชกรรมไทย ซึ่งครูได้เรียบเรียงและจดทะเบียนลิขสิทธิ์ เพื่อใช้เป็นคู่มือสำหรับนักศึกษาแพทย์แผนไทย
       
ครูสมทบ สอนราช :     ในอดีตการสอนแพทย์แผนไทยแต่ละครั้ง ลูกศิษย์จะต้องใช้เอกสารหลายเล่มและไม่เป็นหมวดหมู่ ครูจึงได้เรียบเรียงหนังสือคู่มือการศึกษาหลักเภสัชกรรมไทย จำนวน ๔ เล่ม โดยสรุปและจัดหมวดหมู่องค์ความรู้เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายและพกพาสะดวก ส่วนหนังสือคู่มือเกี่ยวกับการบ่งต้อด้วยหนามหวาย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเรียบเรียงข้อมูล
       
ผู้ดำเนินรายการ :      ครูสมทบ มีการขยายผลองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร
       
ครูสมทบ สอนราช :    
ขณะนี้ได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อศึกษาวิจัยและเผยแพร่ให้ประชาชนตระหนักถึงสรรพคุณและร่วมกันอนุรักษ์พืชที่มีประโยชน์นานาพรรณ อาทิ หวาย ขัดมอน และกระดูกไก่ขาว ซึ่งมักขึ้นอยู่บริเวณริมคลองชลประทานและริมฝั่งแม่น้ำพิจิตรเก่า แต่เนื่องจากประชาชนมักมองว่าเป็นวัชพืช ทำให้พันธุ์ไม้เหล่านี้ลดน้อยลงจนไม่เพียงพอต่อการใช้รักษาผู้ป่วย ปัจจุบันเริ่มมีการเชิญชวนให้คนในชุมชนมาช่วยกันปลูกและสนับสนุนหนามหวายเพื่อใช้ในการรักษาให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์การบ่งต้อด้วยหนามหวาย ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๗๐ แห่งทั่วประเทศ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :      สุดท้ายนี้ ขอให้ ครูสมทบ สอนราช ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านการแพทย์แผนไทยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากแนวทางส่งเสริมการแพทย์แผนไทยอย่างไร เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้สืบสานศาสตร์ที่มีคุณค่า และนำมาเผยแพร่ในฐานะภูมิปัญญาไทยได้อย่างเหมาะสม
       
ครูสมทบ สอนราช :    
เราคงต้องยอมรับว่า วิทยาศาสตร์ตะวันตกและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มีทั้งข้อดีและมีข้อจำกัดบางเรื่องที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับชีวิตเราได้ แพทย์แผนไทยเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่บรรพบุรุษไทยยังคงสืบสานมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากวิธีการรักษาสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย มีค่าใช้จ่ายและผลข้างเคียงต่ำ หากเรามีองค์ความรู้พืชพื้นบ้านและกรรมวิธีต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน ก็สามารถนำพืชเหล่านั้นมาใช้เป็นยาได้ ฉะนั้น คนไทยทุกคนจึงควรภูมิใจในการใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทยเพื่อดูแลสุขภาพ ซึ่งช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาและสารเคมี และร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาไทยด้านแพทย์แผนไทยให้ดำรงสังคมต่อไป 
 
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     
สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูสมทบ สอนราช ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านการแพทย์แผนไทย ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด