สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “ภูมิปัญญาไทยด้านกองทุน รากฐานของการสร้างสวัสดิการให้ชุมชน”

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :     
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูช่วง เรืองแก้วครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ภูมิปัญญาไทยด้านกองทุน รากฐานของการสร้างสวัสดิการให้ชุมชน”
 
ทราบมาว่า ครูช่วง เรืองแก้ว ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ขอให้ ครูช่วงเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ชุมพลสัมพันธ์ ที่มีการประยุกต์หลักการทำงานแบบธนาคารมาช่วยพัฒนากองทุนดังกล่าว
       
ครูช่วง เรืองแก้ว :    

ตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ทำให้สถาบันการเงินและประชาชนไทยได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ผู้นำและชาวบ้านตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เกิดความคิดร่วมกันว่า ชุมชนควรจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ แทนที่จะรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นเพียงด้านเดียว ด้วยเหตุนี้จึงจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมทุนจากสมาชิก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ มีสมาชิกเริ่มต้น จำนวน ๗๕ คน ร่วมกันฝากเงินได้ตั้งแต่ ๓๐ – ๑,๐๐๐ บาท ภายในหนึ่งปีสามารถระดมทุนได้มากกว่า ๑ ล้านบาท นำมาจัดสรรเป็นดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่สมาชิกในอัตราร้อยละ ๕ – ๖ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารทั่วไป 

กลุ่มออมทรัพย์ในครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านตำบลชุมพลอย่างมาก เนื่องจากคณะทำงานของกลุ่ม ฯ ได้ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของการออม โดยมุ่งสร้างความเข้าใจว่า การออมเงินนั้นไม่ใช่การสะสมเงินเพื่อกู้ยืม แต่เป็นการสร้างวินัยทางการเงินเพื่อให้เงินทุนงอกเงยและเป็นหลักประกันให้กับครอบครัว ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมาก จึงได้ประยุกต์หลักการทำงานแบบธนาคารมาพัฒนาองค์กรให้เป็นสถาบันการเงินชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชน “ชุมพลสัมพันธ์” ปัจจุบันกองทุน ฯ ได้กำหนดให้สมาชิกสามารถมีสมุดคู่ฝากได้คนละ ๑ เล่ม มียอดฝากไม่เกิน ๑ แสนบาท เพื่อป้องกันกลุ่มนายทุนเข้ามาหาประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝาก นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการด้านทุนการศึกษา ค่าชดเชยเมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล และเงินช่วยเหลือในกรณีประสบอุทกภัยหรือวาตภัย 

       
ผู้ดำเนินรายการ :       กองทุนสวัสดิการชุมชน ชุมพลสัมพันธ์ มีหลักการบริหารเงินทุนอย่างไร 
       
ครูช่วง เรืองแก้ว :    
ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ฯ คณะทำงานได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ธนาคารและนักพัฒนาชุมชนมาร่วมให้ความรู้ตั้งแต่ระบบการฝาก – ถอน การทำบัญชี และการบริหารเงินทุนให้งอกเงย โดยยึดถือหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในองค์กรและเป็นที่ไว้วางใจของสมาชิกทุกท่าน นอกจากนี้ กองทุน ฯ ยังมีระบบคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ โดยคณะกรรมการจะต้องมีความเห็นตรงกันทั้งเรื่องวินัยทางการเงินของผู้ขอกู้และสภาพความเดือดร้อนซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่คนในพื้นที่สามารถรับรู้ได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ คือ ร้อยละ ๑ บาท ต่อเดือน เนื่องจากต้องการช่วยเหลือผู้ขอกู้ให้สามารถนำเงินไปต่อยอดทางอาชีพได้อย่างแท้จริง ต่างจากระบบธนาคารที่ให้เงินกู้ยืมโดยเน้นผลกำไรจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :       ครูช่วง มีกลวิธีในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สถานศึกษาและชุมชนโดยรอบอย่างไร  
       
ครูช่วง เรืองแก้ว :     คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ชุมพลสัมพันธ์ ได้ร่วมจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของโรงเรียนในชุมชน และให้บุตรหลานของสมาชิกได้เข้ามาฝึกปฏิบัติงานจริง ตั้งแต่การเขียนใบฝาก - ถอน และเรียนรู้หลักบริหารการเงินของกองทุน ฯ นอกจากนี้ การที่ครูได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ชุมพลสัมพันธ์ และเครือข่ายการเงินชุมพลสัมพันธ์ ทำให้ครูได้เข้าไปให้ความรู้และร่วมจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์อื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง รวมถึงพัฒนากิจการกองทุนสวัสดิการชุมชน ชุมพลสัมพันธ์ จนได้รับการยกย่องให้เป็นองค์กรดีเด่นของจังหวัดพัทลุง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และได้เฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งได้สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับครอบครัวและสมาชิกกองทุน ฯ เป็นอย่างยิ่ง
       
ผู้ดำเนินรายการ :      สุดท้ายนี้ ขอให้ ครูช่วง เรืองแก้ว ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูช่วง เรืองแก้ว :    
 ครูมีหลักคิดที่ยึดถือเสมอ คือ  เราต้องพึ่งพาตนเอง  การเงินก็เช่นกัน ในวันนี้มีเงินพอใช้จ่าย แต่วันข้างหน้าอาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน ฉะนั้นเราต้องรู้จักออมเงินและไม่ประมาท หากทุกคนตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือตนเอง มีวินัยทางการเงิน  และแสวงหาความรู้หรือองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือมาช่วยบริหารการเงิน จะสร้างหลักประกันให้ชีวิตของเรามั่นคง แม้จะเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิด จะทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้
 
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูช่วง เรืองแก้ว ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด