สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “ภูมิปัญญาด้านกองทุนกับการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน”

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :     
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูวิเชียร ผลเจริญ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ภูมิปัญญาด้านกองทุนกับการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน”
 
ทราบมาว่า ครูวิเชียร ผลเจริญ ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ขอให้ ครูวิเชียรเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน รวมถึงการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสะโน อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ จนได้รับการยกระดับให้เป็น “สถาบันการจัดการเงินชุมชนบ้านสะโน”
       
ครูวิเชียร ผลเจริญ :     
จุดเริ่มต้นของการทำงานมาจากการได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านสะโน หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองบัว อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ในสมัยนั้นยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ใดๆ ชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากวิฤตเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๕๒ ครูจึงเริ่มศึกษาความรู้เรื่องการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และเข้าร่วมรับฟังการบรรยายทั้งในระบบตำบล อำเภอ และจังหวัด จนนำความรู้กลับมาเผยแพร่ให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ 
 
หลักการของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต คือ การรวมตัวของประชาชนด้วยความสมัครใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และใช้เงินในการลงทุนประกอบอาชีพ และใช้จ่ายทั้งของตนเองและบุคคลอื่น ๆ ภายในกลุ่ม กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสะโนได้ต่อยอดหลักการดังกล่าวและพัฒนาจนได้รับการยกระดับให้เป็นสถาบันการจัดการเงินชุมชนบ้านสะโน โดยมีคณะทำงานภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนงานกองทุนสวัสดิการ สภาองค์กรชุมชน และภาคีพัฒนาจังหวัดเข้าร่วมด้วย 
       
ผู้ดำเนินรายการ :       ครูวิเชียร มีกลวิธีในการสร้างความร่วมมือและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร  
       
ครูวิเชียร ผลเจริญ :     การสร้างความร่วมมือในชุมชมเริ่มจากการสร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งจากครู ตำรวจ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ขององค์กรบริหารส่วนตำบล โดยเชิญบุคลากรเหล่านี้มาประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจถึงเป้าหมายและกระบวนการของการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และสถาบันการจัดการเงินชุมชน จากนั้น เมื่อภาคีเครือข่ายออมเงินและเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มออมทรัพย์ ฯ อยู่เสมอ ทำให้ชาวบ้านเชื่อถือและหันมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ ฯ เช่นกัน ในช่วงแรกของการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ฯ มีสมาชิกแรกเข้าที่เป็นตัวแทนของแต่ละครัวเรือนในพื้นที่ ประมาณ ๖๐ คน โดยมีข้อกำหนดร่วมกัน คือ ให้สมาชิกฝากเงินเดือนละ ๒๐ บาท ในทุกวันที่ ๕ ของเดือน มีการจัดกิจกรรมการออมเพื่อสร้างเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเงินสะสมไปช่วยเหลือสมาชิกที่มีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ยังมีการบริหารผลกำไร โดยเน้นการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก บุตรหลานสมาชิก ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ ผู้พิการ การมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรหลาน รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะ วัฒนธรรมประเพณีในชุมชน และชุมชนใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง
       
ผู้ดำเนินรายการ :      
ขอให้ ครูวิเชียร แนะนำว่าหน่วยงานด้านการศึกษาควรมีแนวทางในการปลูกฝังวินัยทางการออมอย่างไร เพื่อให้เยาวชนไทยรู้จักวางแผนทางการเงิน มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ซึ่งอาจเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้อย่างครู
       
ครูวิเชียร ผลเจริญ :    
อยากให้มีการบรรจุรายวิชาเกี่ยวกับการบริหารการเงิน ในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา เนื่องจากสถานศึกษาเป็นศูนย์กลางของศาสตร์ทุกแขนง และเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการให้เด็กได้รับทั้งความรู้ และฝึกปฏิบัติร่วมกับชมรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน จากการที่ครูได้เป็นวิทยากรเรื่องการจัดตั้งกองทุนในหลายโรงเรียน อาทิ โรงเรียนบ้านสะโน โรงเรียนบ้านโพธิ์ และโรงเรียนบ้านหนองคันนา จังหวัดสุรินทร์ พบว่า ครูและนักเรียนให้ความสนใจเรื่องการออมทรัพย์อย่างยิ่ง โดยเริ่มมีการจัดตั้งโครงการออมวันละบาทในหลายโรงเรียน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้ต่อยอดไปถึงกลุ่มผู้ปกครอง ทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในแทบทุกตำบลของอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนเงินทุนอย่างต่อเนื่อง หลายตำบลมีเงินหมุนเวียนหลายล้านบาท ทำให้ระบบสวัสดิการของชุมชนดีขึ้น 
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สุดท้ายนี้ ขอให้ ครูวิเชียร ผลเจริญ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูวิเชียร ผลเจริญ :    
 การออมเงินเป็นวินัยที่เยาวชนและคนทุกวัยควรมี นอกจากเป็นการฝึกความรับผิดชอบต่อตัวเอง ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการวางแผนการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่างพระราชบัญญัติด้านการออมให้ครอบคลุมทุกอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่ตรากตรำทำงานหนัก แต่ยังได้รับสวัสดิการและระบบบำนาญที่ไม่มั่นคงมากนัก อาจจะมีหลักเกณฑ์คำนวณร้อยละของการหักรายได้ประจำปีของเกษตรกร เพื่อสะสมเป็นเงินบำนาญ โดยประเมินจากราคาผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับตามพื้นที่เกษตรกรรมของแต่ละคน 
 
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูวิเชียร ผลเจริญ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด