สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สืบสานภูมิปัญญาไทย “ผญา กลอนลำ และเพลงลูกทุ่ง”

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :     
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูสมชาย ฐานเจริญ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านภาษาและวรรณกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น สืบสานภูมิปัญญาไทย “ผญา กลอนลำ และเพลงลูกทุ่ง”
 
ทราบมาว่าครูสมชาย ฐานเจริญ ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านภาษาและวรรณกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้นำความรู้ในการแต่งกลอนผญา กลอนลำ และประพันธ์เพลงลูกทุ่งที่เกี่ยวกับความสมานฉันท์ปรองดองจนได้รับรางวัลมากมาย ก่อนอื่นขอให้ครูสมชาย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านภาษาและวรรณกรรมที่ทำให้ประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้
       
ครูสมชาย ฐานเจริญ :    
ครูเกิดที่จังหวัดชัยภูมิ และย้ายมาทำงานที่จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มเรียนรู้บทกลอนจากการท่องคำกลอน ท่องผญาตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ในช่วงที่บวชเรียนได้ฝึกอ่านกลอนคติธรรมในวัด เช่น “เกิดเป็นคนต้องทนให้คนด่า ทำดีทำบ้าด่าทั้งหมด ทำตรงๆ มันก็ด่าว่าไม่คด ทำเลี้ยวลดมันก็ด่าว่าไม่ตรง” ประกอบกับเมื่อได้เรียนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต ระดับปริญญาตรี และศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศอินเดีย ครูได้นำองค์ความรู้ที่มีมาผสานกับความชอบอ่านกลอนคติธรรม มาฝึกแต่งกลอนประเภทต่าง ๆ เป็นประจำจนเกิดความชำนาญ อย่างเช่นกลอน “ผญา” ซึ่งแผลงมาจากเสียงอ่านคำว่า “ปรัชญา” ในภาษาอีสาน เป็นการร้อยคำที่ลึกซึ้งเพื่อถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นการสอนให้ผู้ฟังเกิดสติและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยครูมีเป้าหมายที่ต้องการประยุกต์ภาษาพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์กับชุมชน รวมถึงสร้างความสามัคคีในชาติ ทำให้ได้รับรางวัลจากการประกวดต่าง ๆ อาทิ การประกวดเพลงพื้นบ้าน ในโครงการ “ไทยโปร่งใส ไทยเข้มแข็ง” นอกจากนี้ครูได้ประพันธ์เพลงให้กับศิลปินชื่อดังอย่าง มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ในเพลง “คนนอกสายตา” ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 
       
ผู้ดำเนินรายการ :      ผลงานกลอนผญา กลอนลำ และประพันธ์เพลงลูกทุ่งในรูปแบบของครูสมชาย เป็นอย่างไร 
       
ครูสมชาย ฐานเจริญ :      
การประพันธ์กลอนและเพลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสร้างความปรองดอง เช่น เพลงพลังชุมชน เพลงความสามัคคี และเพลงสะพานเชื่อมใจ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เพลงเชิญเที่ยวอุบล ๒๒๒ ปี และเพลงเชิญเที่ยวเปื่อยหัวดง ซึ่งครูมักแทรกหลักธรรมคำสอนที่มาจากวิถีชุมชนเพื่อสอนลูกหลาน เช่น กลอนสอนความรักที่ให้รักกันไว้เหมือนข้าวเหนียวนึ่งใหม่ อย่าให้เหมือนข้าวเหนียวที่โดนน้ำแล้วแตกเม็ดแยกออกจากกัน รวมถึงน้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาประพันธ์ เช่น กลอนลำเศรษฐกิจพอเพียง และเพลงฝนหลวง 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ครูสมชายมีกลวิธีในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร
       
ครูสมชาย ฐานเจริญ :     ครูเปิดสอนการแต่งกลอนเพลงให้ผู้สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและเผยแพร่ทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ ครูได้ร่วมกับเครือข่ายของสภาวัฒนธรรมเปิดศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทย วิทยาลัยหมอลำ โดยนำองค์ความรู้ด้านกลอนลำและกลอนผญา มาเผยแพร่แก่ผู้สนใจ ซึ่งในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๒ ที่จะถึงนี้ จะมีหมอลำประมาณ ๑๐๐ คน มารวมตัวกันเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม เช่น การท่องเที่ยวท้องถิ่น ประเพณี ๑๒ อย่างของชาวอีสาน การประพฤติปฏิบัติตนในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงเรื่องพระเวสสันดรชาดก เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     อยากให้ครูสมชายแนะนำว่า หน่วยงานด้านการศึกษาควรมีแนวทางส่งเสริมหรือพัฒนาทักษะการประพันธ์กลอนหรือเพลงได้อย่างไร เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้สืบสาน และนำมาเผยแพร่ในฐานะภูมิปัญญาไทยได้อย่างเหมาะสม
       
ครูสมชาย ฐานเจริญ :     นอกจากการสอนการแต่งคำประพันธ์ในชั้นเรียน หรือการแต่งเพลงรักซึ่งเป็นที่นิยมของเยาวชนสมัยใหม่ อยากให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจัดเวทีประกวดการแต่งกลอนเพลง ทั้งระดับนักเรียนและประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมการเขียนกลอนเพลงจากประเพณีวัฒนธรรม อาจเป็นเรื่องการเกษตร หรือความรักความสามัคคี ซึ่งจะช่วยเผยแพร่ภูมิปัญญาพื้นบ้านและทำให้เยาวชนและผู้สนใจได้ซึมซับคติธรรมและสืบสานประเพณีที่ดีงาม
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สุดท้ายนี้ ขอให้ ครูสมชาย ฐานเจริญ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านภาษาและวรรณกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูสมชาย ฐานเจริญ :    
อยากให้ทุกคนหันมาศึกษาเรียนรู้กลอนผญาและกลอนลำ ซึ่งมีหลายรูปแบบที่น่าสนใจ ครูประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้ เพราะยึดถือบทกลอนหนึ่งในการดำเนินชีวิต คือ "ถ้าไม่เทียมเท่ากับเขาอื่น จะไม่คืนถิ่นเก่าให้เขาหัว แม้อยู่ดินกินทรายเหมือนควายวัว จะตั้งตัวเป็นปราชญ์จนขาดใจ" กลอนบทนี้ทำให้ครูสามารถผลักดันตนเองจากเด็กชนบทคนหนึ่งจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก และต่อยอดการเรียนรู้จนได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยในปัจจุบัน
 
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูสมชาย ฐานเจริญ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านภาษาและวรรณกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด