สกศ. จัดประชุมอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒

image

         วันนี้  (๒๒ ก.พ. ๒๕๖๒ ) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  จัดประชุมอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา  ครั้งที่ ๒/๒๕๖  โดยมี ดร.จรวยพร ธรณิทร์  ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธาน การประชุม มีนายสำเนา เนื้อทอง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้เป็นเลขานุการ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
 

        ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณารายงานสถานการณ์ แนวโน้มและข้อเสนอการบูรณาการการศึกษากับศาสนา  ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา เนื่องจากการประชุมครั้งที่ ๑/2562 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ได้มีการนำเสนอไปแล้ว ๒ ด้าน ได้แก่ ศาสนาและศิลปะ ในครั้งนี้จะพิจารณาอีก ๓ ด้านที่เหลือ ได้แก่ ๑) ด้านวัฒนธรรม ๒) ด้านกีฬา และ ๓) ด้านภูมิปัญญา

 

 

         คณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบูรณาการศึกษาด้านวัฒนธรรม สรุปสถานการณ์และภาพรวมด้านวัฒนธรรม ดังนี้ UNESCO ได้แบ่งวัฒนธรรม เป็น ๒ ด้าน คือ วัฒนธรรมที่จับต้องได้และวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปัจจุบันวัฒนธรรมอันดีงามเริ่มเสื่อมถอย พฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรม เยาวชนยอมรับพฤติกรรมทุจริตเด็กและเยาวชนขาดองค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความมีส่วนร่วม สำหรับข้อเสนอการบูรณาการการศึกษากับวัฒนธรรม ได้แก่ การกำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ การจัดทำ (MOU) ระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ จัดทำฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้เผยแพร่ให้กว้างขวาง การเพิ่มหลักสูตรวัฒนธรรมในประเทศกลุ่มอาเซียนอย่างเข้มข้น เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมพหุวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันในสังคม การส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ฯลฯ ด้านครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ เพิ่มสาระวิชาการปรับตัวในรูปแบบชีวิตของคนรุ่นใหม่ การปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม จัดทำสื่อแหล่งเรียนรู้ จัดการอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาในหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้และเน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี เป้นต้น ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน ได้แก่ การผลิตสื่อให้มีสาระน่าสนใจ การสนับสนุนงานวิจัยสื่อด้านวัฒนธรรมให้ทันสมัยกับสถานการณ์ปัจจุบัน การจัดทำฐานข้อมูลกลาง (BIG DATA) เพื่อเป็นฐานข้อมูลสื่อด้านวัฒนธรรมในภาพรวมของประเทศ ด้านเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ การดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษา แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในจังหวัดหรือท้องถิ่น เช่น พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมของสถาบันการศึกษา มีวิทยากรประจำที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ นำครูภูมิปัญญาสาขาต่าง ๆ มาเป็นเครือข่ายความร่วมมือของโรงเรียน สร้างเครือข่ายครูต้นแบบในการถ่ายถอดเทคนิคการสอนแบบบูรณาการความรู้ด้านวัฒนธรรมกับวิชาอื่น ๆ 
 

 

         คณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบูรณาการศึกษาด้านกีฬา สรุปสถานการณ์และข้อเสนอแนะ ดังนี้ ปัจจุบันการพัฒนาการกีฬายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาหลักของระบบการศึกษาไทย ขาดการวางพื้นฐานการเล่นกีฬาที่ครอบคลุมให้กับเด็กและเยาวชน ขาดความเหมาะสมในการจัดเวลาสำหรับการออกกำลังกายของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ขาดแคลนบุคลากรด้านพลศึกษาหรือครูพลศึกษาที่มีความรู้และทักษะด้านพลศึกษา กรมพลศึกษาได้ถูกโอนย้ายจากกระทรวงศึกษาธิการไปอยู่ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทำให้ (ขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกายและเล่นกีฬาตั้งแต่เยาว์วัย อันส่งผลเสียระยะยาวทางด้านพลานามัยของคนในชาติ) คนไทยเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๕๔ พบว่า  คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป มีทั้งหมด ๕๗ ล้านคน มีการออกกำลังกายประมาณ ๑๕ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๗๔ ของคนที่ไม่ออกกำลังกายซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรค  สำหรับข้อเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการบูรณาการพลศึกษาและกีฬากับการศึกษา ได้แก่ รัฐต้องให้ความสำคัญ โดยแบ่งตามประเภทการจัดการศึกษาทั้งการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ การศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต และการศึกษาตามอัธยาศัย แนวทางการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการศึกษา ได้แก่ ด้านหลักสูตร/อุปกรณ์และสื่อการสอน ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านพลศึกษา โดยเพิ่มความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย และรองเท้าของผู้เรียนให้เหมาะสม การวัดและประเมินผลตามพัฒนาการทางด้านร่างกาย และทักษะการเคลื่อนไหว มากกว่าการวัดผลจากทักษะกีฬา ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องมีความรู้เรื่องศาสตร์การสอนเฉพาะทาง การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ สร้างบรรยากาศการเรียนที่น่าสนใจ ด้านการบริหารจัดการ คือ การจัดทำฐานข้อมูลกลาง (BIG DATA) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในภาพรวมของประเทศ สร้างแหล่งเรียนรู้แบบ Social Enterprise ด้านสื่อ ได้แก่ ส่งเสริมให้มีการจัดทำสื่อ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเรียนรู้ ในรูปแบบที่หลากหลาย น่าสนใจ และบูรณาการทั้ง 5 ด้าน ด้านเครือข่าย ได้แก่ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วม/การบูรณาการทุกภาคส่วนด้าน ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน สังคม โดยรัฐสนับสนุนให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุน ด้านงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การสอนผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น 


 คณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบูรณาการศึกษาด้านภูมิปัญญา สรุปสถานการณ์และข้อเสนอแนะ ดังนี้ ภูมิปัญญาไทยเป็นมรดกล้ำค่าของชาติ สร้างคนให้เกิดการเรียนรู้ มีทักษะ ประสบการณ์ สร้างอาชีพ เกิดสังคมที่เข้มแข็งพึ่งตนเองได้ สร้างชาติ ให้เป็นปึกแผ่น มั่นคง สร้างความภาคภูมิใจ และศักดิ์ศรีเกียรติภูมิให้แก่คนไทย ผลการวิเคราะห์สรุปได้ ดังนี้ ด้านกฎหมายและนโยบาย สาระบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ แผนการศึกษาแห่งชาติ นโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยฯ ได้ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทยแต่ไม่มีการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทย ด้านการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา เนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยมีน้อยเมื่อเทียบกับสาระวิชาอื่นๆ สถานศึกษา ครูและบุคลากร: บางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ ขาดการยอมรับและการมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยในระบบโรงเรียน   ด้านเครือข่ายความร่วมมือสนับสนุนงานภูมิปัญญาไทยส่วนใหญ่เป็นหน่วยงาน/บุคคลในระดับพื้นที่ในท้องถิ่นของตนยังขาดหน่วยงานระดับชาติ ระดับจังหวัดที่จะนำพาขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาภูมิปัญญาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ด้านฐานข้อมูล ยังไม่มีหน่วยงานหลักจัดทำฐานข้อมูลในภาพรวมสำหรับสืบค้นข้อมูลภูมิปัญญา เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน/กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ สำหรับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการบูรณาการกับการศึกษา ได้แก่ ทบทวนนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา โดยตั้งคณะกรรมการในการวางระบบกลไกการติดตาม ประเมินผล ปรับปรุงกฎ ระเบียบ ประกาศกระทรวง เพื่อเปิดโอกาสให้ครูภูมิปัญญาที่มีความรู้ถ่องแท้ในแต่ละสาขาเข้ามาถ่ายทอด สืบสาน และมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามหลักสูตรท้องถิ่นของแต่ละสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จัดตั้งองค์กรสมัชชาภูมิปัญญาไทยระดับจังหวัด มาตรการลดหย่อนภาษีจากการบริจาคเงินมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานด้านภูมิปัญญาไทย/ศูนย์ครูภูมิปัญญาไทย เพื่อนำไปลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น ส่วนแนวทางการพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการศึกษา ได้แก่ ด้านหลักสูตร บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดำเนินงานภูมิปัญญาไทยสาขาต่างๆ ให้สถานศึกษาจัดทำคู่มือหลักสูตรบูรณาการภูมิปัญญาไทยกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา จัดอบรมผู้บริหาร ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ให้มีความรู้และเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาบูรณาการในการจัดการศึกษา และเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้ภูมิปัญญาให้สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ ได้แก่ ส่งเสริมให้มีการจัดผลิตสื่อ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริมการผลิตสื่อออนไลน์ด้านภูมิปัญญาเพื่อการเรียนรู้ ด้านเครือข่าย ได้แก่ แสวงหาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาติ สนับสนุนให้มีหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารจัดการเครือข่ายภูมิปัญญาไทยและครูภูมิปัญญาไทย สร้างระบบการประสานงานกับทุกเครือข่าย  ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติ เป็นต้น
ที่ประชุมได้มีการหารือและวางแผนการทำงาน โดยขอให้คณะทำงานฯ นำข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ ไปปรับปรุงให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในแต่ละด้าน และขอให้พิจารณาถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจะเชิญมาร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด