สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ภูมิปัญญาโภชนาการ “น้ำผักสะทอน”

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :     
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ครูคำพัน อ่อนอุทัย ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านโภชนาการ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น ภูมิปัญญาโภชนาการ “น้ำผักสะทอน”
 
ทราบมาว่าครูคำพัน อ่อนอุทัย ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านโภชนาการ จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นผู้ริเริ่มสืบสานภูมิปัญญาการทำ “น้ำผักสะทอน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารพื้นบ้านอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ก่อนอื่นขอให้ครูคำพันเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานด้านโภชนาการ และกระบวนการผลิตน้ำผักสะทอนที่ครูสร้างสรรค์ขึ้น
       
ครูคำพัน อ่อนอุทัย :      ครูเกิดที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการทำอาหารพื้นเมืองจากบรรพบุรุษ รวมถึงการต่อยอดภูมิปัญญาการทำน้ำผักสะทอนซึ่งเป็นน้ำปรุงรสของอาหารพื้นเมือง ผักสะทอนเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของจังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียง มักจะขึ้นตามป่าที่อุดมสมบูรณ์บริเวณเชิงเขา ผักสะทอนแบ่งเป็น ๓ สายพันธุ์ ได้แก่ สะทอนจั่น สะทอนจาน และสะทอนวัว ซึ่งจะแตกใบอ่อนในช่วงกลางเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปี โดยขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการคัดเลือกใบสะทอนที่อ่อนกำลังดี อายุประมาณ ๗ วันนับจากเริ่มผลิใบ จากนั้นนำใบสะทอนทั้ง ๓ สายพันธุ์ที่ตำละเอียดแล้วมาผสมกับน้ำหมักในโอ่งเป็นเวลา ๓ คืน ก่อนจะกรองน้ำที่ได้ไปเคี่ยวและพักให้เย็นลงจนได้เป็นน้ำผักสะทอนที่มีรสชาติกลมกล่อม สามารถนำมาปรุงรสอาหารหลายรูปแบบ อาทิ ลาบ ส้มตำน้ำผักสะทอน และเมี่ยงขิง 
       
ผู้ดำเนินรายการ :       เหตุใดครูคำพันจึงมองว่าอาหารพื้นบ้าน เช่น น้ำผักสะทอน สามารถสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นและสะท้อนถึงวิถีชุมชนได้
       
ครูคำพัน อ่อนอุทัย :       อาหารและพืชพรรณสมุนไพรอย่างผักสะทอนสามารถเชื่อมโยงกับตำนานในท้องถิ่นได้ อย่างเช่นการค้นพบผักสะทอน มีเอกสารใบลานบันทึกไว้ว่า ในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕  ปีพ.ศ. ๑๗๖๑ เกิดอาเพศขึ้นในบ้านนาดี อำเภอด่านซ้าย ซึ่งเป็นเมืองภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ มีโขลงช้าง และสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ ในคืนวันนั้นชาวบ้านได้ยินเสียงช้างโขลงใหญ่ร้องครางด้วยความเจ็บปวดจึงชวนกันมาดูและได้เห็นช้างถอนต้นผักสะทอนมาเคี้ยวกินจนต้นสะทอนบริเวณนั้นเกือบหมด ชาวบ้านเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถรู้ว่าสมุนไพรใดรักษาตัวได้ จึงลองนำผักสะทอนมารักษาไข้ฝีดาษซึ่งเป็นโรคระบาดในชุมชนขณะนั้น หลังจากรักษาอาการผู้ป่วยจนหายเป็นปรกติแล้ว ชาวบ้านเริ่มทดลองนำผักสะทอนมาตำและหมักเก็บไว้ประมาณ ๒ – ๓ เดือน เมื่อชิมผักสะทอนจึงได้ทราบว่าน้ำผักสะทอนมีรสชาติกลมกล่อมควรนำมาปรุงรสอาหาร ทำให้น้ำผักสะทอนได้รับความนิยมในบ้านนาดีและพื้นที่ใกล้เคียงจนถึงปัจจุบัน
       
ผู้ดำเนินรายการ :       ครูคำพันมีกลวิธีในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร
       
ครูคำพัน อ่อนอุทัย :     ก่อนหน้านี้ครูได้ร่วมจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาดี เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทั้งการแปรรูปอาหารพื้นเมืองและน้ำผักสะทอนบรรจุขวด ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และการส่งเสริมจากภาครัฐให้ทุกครัวเรือนของอำเภอด่านซ้ายใช้น้ำผักสะทอนเป็นเครื่องปรุงรส นอกจากนี้ ได้มีการทำวิจัยร่วมกับรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และนักศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ทราบว่า น้ำผักสะทอนมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และกากใยจากพืช ครูจึงได้นำองค์ความรู้และกระบวนการผลิตน้ำผักสะทอนไปเผยแพร่ในฐานะวิทยากรในสถานศึกษาต่าง ๆ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สุดท้ายนี้ ขอให้ครูคำพัน อ่อนอุทัย ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านโภชนาการ จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา 
       
ครูคำพัน อ่อนอุทัย :    
น้ำผักสะทอน เป็นอาหารที่เชื่อมโยงตำนานท้องถิ่นและสะท้อนรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวด่านซ้ายที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาด้านโภชนาการของบรรพบุรุษ จึงควรค่าอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานควรจะร่วมกันส่งเสริมเให้เด็กรุ่นใหม่ได้สืบสาน และนำมาเผยแพร่ในฐานะภูมิปัญญาไทยผสานกับการท่องเที่ยววิถีไทยได้อย่างเหมาะสม
 
สำหรับผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :       สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูคำพัน อ่อนอุทัย ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านโภชนาการ จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
     
*****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด