สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น เปิดมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากท่านรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายสำเนา เนื้อทอง) ร่วมสนทนาประเด็น “เปิดมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ”
 
ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง) ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) เป็นประธานการประชุม ขอให้ท่านรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายสำเนา เนื้อทอง) อธิบายถึงความเป็นมาของมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ   
       
รก.ผอ.สมร. :    
การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการดำเนินงานที่มีความเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน แต่ที่ผ่านมาแต่ละสังกัดต่างมีมาตรฐานและเกณฑ์การประเมินแตกต่างกันไปตามภารกิจของหน่วยงาน  แม้ว่าจะมีการจัดทำมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอไว้และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น มาตรฐาน ฯ ฉบับเดิมใช้สำหรับเด็กปฐมวัยช่วงอายุ ๒-๕ ปี ไม่ครอบคลุมช่วงอายุของเด็กที่เข้ารับบริการในศูนย์เด็กเล็กทุกบริบท ทุกสังกัด มีการกำหนดให้ทำกิจกรรมแต่ไม่ได้บอกวิธีการหรือขั้นตอนที่จะทำกิจกรรมให้สำเร็จ กลุ่มเป้าหมายตามมาตรฐานฯ เดิมจำกัดที่ศูนย์เด็กเล็กและสถานรับเลี้ยงเด็ก ไม่ครอบคลุมโรงเรียนอนุบาลของรัฐและเอกชน สถานพัฒนาเด็กในทุกสังกัด 
 
คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.)  ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานและบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัยระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน ได้เห็นควรให้มีการจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อเชื่อมต่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี นโยบายและแผนพัฒนาต่าง ๆ ในการพัฒนา เด็กปฐมวัยของประเทศ รวมถึงกรอบมาตรฐานคุณภาพปฐมวัยอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานทุกระดับทั้งในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ  โดยมีเป้าหมายให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ  รวมทั้งให้มีมาตรฐานกลางของประเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดบริการดูแล พัฒนาและการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้ไปในทิศทางเดียวกัน  และเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้มีผลบังคับใช้เพื่อให้ทุกหน่วยงานยอมรับและถือปฏิบัติร่วมกัน
       
ผู้ดำเนินรายการ :      มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติมีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาเด็กไทยอย่างไร 
       
รก.ผอ.สมร. :     ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กปฐมวัย ซึ่งหมายถึง เด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ ๖ ปี จำนวน ๔.๕ ล้านคน สำรวจโดยกรมอนามัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๖๐ รวม ๖ ครั้ง พบว่า เด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ ๖ ปี ประมาณร้อยละ ๓๐ มีพัฒนาการไม่สมวัย นับเป็นวิกฤติร้ายแรงต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างประเทศ  ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ James J. Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้ศึกษาพบว่าการลงทุนในการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนทางสังคมที่คุ้มค่าที่สุด สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ให้ความสำคัญในการดูแลเด็กปฐมวัย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติถือเป็นมาตรฐานขั้นต้นที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเด็กของประเทศ และเป็นมาตรฐานเชิงคุณภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานและจัดบริการให้เด็กปฐมวัยได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  โดยมีเป้าหมายให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ  รวมทั้งให้มีมาตรฐานกลางของประเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดบริการดูแล พัฒนาและจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้ไปในทิศทางเดียวกัน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     หน่วยงานใดบ้างที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
       
รก.ผอ.สมร. :     การจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ในรูปของคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ทั้งนี้ ในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีการดูแลเด็กปฐมวัยในด้านต่าง ๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องศูนย์เด็กเล็ก และกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดูแลเด็กตั้งแต่เข้าสู่ระบบการศึกษาในชั้นอนุบาล
       
ผู้ดำเนินรายการ :     มาตรฐานดังกล่าวมีรายละเอียดหรือเกณฑ์การประเมินคุณภาพอย่างไร
       
รก.ผอ.สมร. :    
มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเป็นเครื่องมือในการประเมินคุณภาพการดำเนินงานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัดที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดพิมพ์เป็นคู่มือเผยแพร่ให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยได้นำไปใช้ประเมินตนเองให้มีศักยภาพตามมาตรฐานหรือสูงกว่ามาตรฐานนี้ ซึ่งพิจารณาเพิ่มเติมเกณฑ์ได้ตามบริบท มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติประกอบด้วยมาตรฐาน ๓ ด้าน ได้แก่
 
มาตรฐานด้านที่ ๑   การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ประกอบด้วยตัวบ่งชี้ ๕ ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการบุคลากร การบริหารจัดการสภาพแวดล้อม  การจัดการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการเรียนรู้  และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
 
มาตรฐานด้านที่ ๒  ครูหรือผู้ให้การดูแลและจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย มีตัวบ่งชี้ที่สำคัญ ได้แก่ การดูแลและพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน  การส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและดูแลสุขภาพ  การส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ภาษาและการสื่อสาร  การส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม  รวมถึงการส่งเสริมเด็กในระบบเปลี่ยนผ่านให้ปรับตัวสู่การเชื่อมต่อในขั้นถัดไป 
 
มาตรฐานด้านที่ ๓  คุณภาพของเด็กปฐมวัย แบ่งเป็น ๒ ช่วง ได้แก่ 
๑) เด็กแรกเกิด-อายุ ๒ ปี (๒ ปี ๑๑ เดือน ๒๙ วัน) เด็กจะต้องได้รับการดูแลให้เจริญเติบโตสมวัย และมีพัฒนาการสมวัย เช่น มีระบบกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ น้ำหนัก และส่วนสูงที่เหมาะสม และสามารถรับรู้เข้าใจภาษาสื่อสารได้ดีตามวัย 
๒) เด็ก อายุ ๓ ปี-อายุ ๖ ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ ๑  เด็กในช่วงนี้ต้องได้รับการพัฒนาให้เจริญเติบโตสมวัยและมีสุขนิสัยที่เหมาะสม มีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารที่ดีต่อเนื่องมาจากช่วงแรก สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ให้ทราบถึงความต้องการของตนได้ มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ด้านอารมณ์ จิตใจ รวมถึงด้านสติปัญญาในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ รวมถึงมีคุณธรรม มีวินัย และความเป็นพลเมืองดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีพัฒนาการด้านสังคม
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
ครูหรือผู้ดูแลเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกคนหรือไม่ 
       
รก.ผอ.สมร. :     ครูหรือผู้ดูแลเด็กปฐมวัยในปัจจุบันมีทั้งผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาแล้ว และผู้ที่อยู่ระหว่างการอบรมเพื่อนำไปประกอบการขอใบอนุญาตดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจะต้องส่งเสริมการพัฒนาครูหรือผู้ดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบริหารจัดการให้มีอัตราส่วนครูต่อเด็กอย่างเหมาะสมเพียงพอต่อจำนวนเด็กในแต่ละกลุ่มอายุ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า ๑ ปี ต้องอัตราส่วนครูหรือผู้ดูแล ๑ คน ต่อเด็ก ๓ คน หรือมีจำนวนเด็กในกลุ่มกิจกรรม กลุ่มละไม่เกิน ๖ คน และสำหรับเด็กอายุไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ต้องมี ต้องอัตราส่วนครูหรือผู้ดูแล ๑ คน ต่อเด็ก ๕ คน หรือมีจำนวนเด็กในกลุ่มกิจกรรม กลุ่มละไม่เกิน ๑๐ คน ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ได้ระบุไว้ในตัวบ่งชี้ด้านการบริหารจัดการบุคลากร
       
ผู้ดำเนินรายการ :     มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด
       
รก.ผอ.สมร. :    
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยให้ใช้เป็นมาตรฐานกลางของประเทศแทนมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติเดิมที่ ครม. มีมติให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔  ซึ่งมีมติให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณานำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติฉบับใหม่ไปใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลและรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ โดยนำไปใช้บริหารจัดการ ประเมินผลการดำเนินงานเพื่อยกระดับการพัฒนาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานดังกล่าว และให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานและรายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.)  เป็นระยะหรืออย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายสำเนา เนื้อทอง) ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
รก.ผอ.สมร. :    
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) เตรียมแผนการดำเนินงานในปี ๒๕๖๒ โดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พร้อมทั้งเผยแพร่คู่มือมาตรฐาน ฯ แก่กระทรวงและหน่วยงานต้นสังกัดของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดบริการดูแล และพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรฐานดังกล่าวในปี ๒๕๖๓ ต่อไป 
 
สกศ. ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยสามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ นายสำเนา เนื้อทอง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด