สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ไขปมความเหลื่อมล้ำกับคุณภาพการศึกษาไทย

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก นายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ไขปมความเหลื่อมล้ำกับคุณภาพการศึกษาไทย”  

ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำกับคุณภาพการศึกษา” ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) อธิบายถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทยในปัจจุบัน 

       
ผอ. กวิน เสือสกุล :     เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมทางวิชาการ (OEC Forum) ครั้งที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ โดย ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุม ซึ่งมี Dr. Gerald W. Fry จากมหาวิทยาลัยมินนิโซต้า สหรัฐอเมริกา และ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ของธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) ร่วมนำเสนอประเด็น “ความเหลื่อมล้ำกับคุณภาพการศึกษา” ผลการประชุมทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ เนื่องจากสังคมปัจจุบันเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้เกิดกระแสทุนนิยมกลายเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองกับคนในชนบท ทั้งด้านสถานะทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษา สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา เนื่องจากเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินเพียงร้อยละ ๖๙.๙ จากการประเมินสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น ๑๒,๒๓๐ แห่งทั่วประเทศ และยังมีความแตกต่างของเกณฑ์การประเมินระหว่างโรงเรียนที่อยู่ในเมืองและนอกเมือง โรงเรียนที่อยู่ต่างภูมิภาค โรงเรียนเรียนที่อยู่ต่างสังกัด และโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทำให้ประชชนบางกลุ่มขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพและการสร้างรายได้ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพทางการศึกษาของไทยเกิดจากปัจจัยใด
       
ผอ. กวิน เสือสกุล :     ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ จากเวิลด์แบงก์ ให้ข้อสังเกตว่า ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือ การบริหารค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาขาดประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถจัดการศึกษาที่เพิ่มทักษะของผู้เรียนได้ เด็กไทยส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการอ่านและการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ อีกทั้งเมื่อจำนวนเด็กลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ค่าใช้จ่ายรายหัวมีแนวโน้มสูงขึ้น จะเกิดปัญหากับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ แต่มักได้รับการจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงพอ และหากเด็กมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในระยะเวลา ๖ ปี สัดส่วนโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๕๐ คน จะเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ ๑๗.๔ เป็นร้อยละ ๒๓.๗ ทำให้มีห้องเรียนขนาดเล็กมากเกินไป อาจทำให้การจัดสรรบุคลากรและอุปกรณ์การเรียนการสอนซึ่งไม่เพียงพอ
       
ผู้ดำเนินรายการ :     หลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ประเด็นใดที่ควรดำเนินการเร่งด่วน
       
ผอ. กวิน เสือสกุล :    
เดิมกระทรวงศึกษาธิการมีการทบทวนแนวคิดควบรวมโรงเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบุคลากร โดยผลวิจัยของเวิลด์แบงก์พบว่า การควบรวมโรงเรียนจะทำให้ครูมีจำนวนลดลงประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน จากเดิมที่มีครูประมาณ ๔๗๕,๐๐๐ คน เหลือเพียง ๓๗๓,๐๐๐ คน อีกทั้งยังอาจลดจำนวนโรงเรียนประถมศึกษาลงจาก ๒๐,๙๙๐ แห่ง เหลือ ๘,๓๘๒ แห่ง ทำให้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลได้มากถึง ๔๙,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม การวางแผนเรื่องการควบรวมโรงเรียนจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการผลิตครูและสอดคล้องบริบทของชุมชนด้วย 
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ได้ร่างกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลายมิติ ดังเช่นพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้สามารถประกอบอาชีพได้ตามความถนัด อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพครูในการจัดการเรียนการสอน และช่วยเหลือสถานศึกษาด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ที่ร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น และครูสอนไม่ตรงวิชาเอก โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กและตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล)  ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ 
       
ผอ. กวิน เสือสกุล :    

นอกจากการสร้างโอกาสให้คนไทยได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคแล้ว สิ่งที่หลายฝ่ายต้องช่วยกันคิดคือ จะทำอย่างไรให้เด็กไทยได้เรียนอย่างมีคุณภาพทั่วถึงเท่าเทียมกัน การประชุมในครั้งนี้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะรวบรวมองค์ความรู้และข้อเสนอแนะที่ได้ไปใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศต่อไป

สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องความเหลื่อมล้ำและคุณภาพการศึกษาด้านอื่นๆ สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ นายกวิน เสือสกุล  ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
     
.......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด