สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ : มิติใหม่วงการศึกษาไทย

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านมาตรฐานการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ ร่วมสนทนาประเด็น “มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ : มิติใหม่วงการศึกษาไทย”
 
ทราบมาว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบ “มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑” เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ขอเรียนถามท่านประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านมาตรฐานการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ (ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว) ถึงกรอบแนวคิดในการจัดทำและจุดเด่นของมาตรฐานการศึกษาดังกล่าว
       
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว :     สำงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ ในรูปของผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcome of Education, DOE) หมายถึง คุณลักษณะของคนไทย ๔.๐ ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยคนไทย ๔.๐ จะต้องธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก นั่นคือ เป็นคนดี มีคุณธรรม ยึดค่านิยมร่วมของสังคมเป็นฐานในการพัฒนาตนเอง และให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นกรอบแนวทางสำหรับสร้างคนไทย ๔.๐ โดยมาตรฐานการศึกษาฉบับนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ จากเดิมที่ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดมาตรฐานการศึกษาและแนวทางประเมินผลให้สถานศึกษาปฏิบัติตาม ทำให้สถานศึกษาต้องเตรียมเอกสารแสดงข้อมูลเป็นจำนวนมาก ผลประเมินที่ได้ไปใช้เทียบเคียงกับมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา แต่แนวทางของมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ จะไม่มีการตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งประเทศใส่ (One size fits all) และไม่บังคับปลาให้ปีนต้นไม้ แต่เป็นการให้อิสระแก่สถานศึกษาในการจัดการศึกษาและการประเมินผลที่สอดคล้องกับบริบทของตน เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณลักษณะขั้นต่ำตามที่กำหนด 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     มาตรฐานการศึกษาฉบับนี้ต้องการสร้างเด็กไทยให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างไร
       
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว :
   
มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผู้เรียนไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ซึ่งกำหนดเป็นคุณลักษณะขั้นต่ำ ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ผู้เรียนรู้ (Learner Person) เพื่อสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดี ๒) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Co-creator) เพื่อสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และ ๓) พลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizen) เพื่อสันติสุข มาตรฐานการศึกษาดังกล่าวจะนำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน กำกับ ติดตาม และประเมินผลของการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย / อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา โดยหน่วยงานต้นสังกัดแต่ละแห่งอาจมีการปรับเปลี่ยนผลลัพธ์และกำหนดวิธีการให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กได้ เช่น การสร้างเด็กให้มีคุณลักษณะของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีแนวทางผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ที่เสนอว่า ระดับประถมศึกษา เด็กต้องรู้สิทธิหน้าที่ รู้ถูกผิด มีจิตอาสา และรักท้องถิ่น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เด็กควรจะได้รับการปลูกฝังให้มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะเน้นให้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม จนเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เด็กจะกลายเป็นคนที่กล้าต่อต้านสิ่งผิด สามารถร่วมสร้างสรรค์การพัฒนาตนเองและสังคมที่ยั่งยืน ขจัดความขัดแย้ง และสร้างสันติสุขในสังคมได้ แนวคิดดังกล่าวยังอาจประยุกต์ใช้กับการสอนเด็กให้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการเพิ่มทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้างคุณลักษณะของคนไทย ๔.๐ ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
       
ผู้ดำเนินรายการ :      หลังจากนี้ กรรมการสภาการศึกษาและสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะร่วมกันดำเนินงานอย่างไรต่อไป เพื่อให้มาตรฐานการศึกษาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง
       
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว :     เนื่องจากมาตรฐานการศึกษาดังกล่าวได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ การดำเนินงานในช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงการทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย ๔.๐ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ รวมถึงชี้แจงระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัด ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูอาจารย์ และผู้ปกครอง ทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัดทั้ง ๔ ภูมิภาค ให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของตนที่แตกต่างจากเดิมคือ ไม่มีการสั่งการจากส่วนกลาง แต่คณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชนจะต้องร่วมกันคิดว่าจะพัฒนาสถานศึกษาให้โดดเด่นในทิศทางใด หากมีความพร้อมก็สามารถแจ้งให้หน่วยงานส่วนกลางเข้าไปร่วมประเมิน ให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงส่งผลการประเมินกลับมายังหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป 
       
ผู้ดำเนินรายการ :
   
สุดท้ายนี้ ขอให้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านมาตรฐานการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว :    
มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นการพลิกโฉมแนวทางปฏิบัติที่ให้สถานศึกษากำหนดอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อว่า หากนำมาปรับใช้กับการศึกษาไทยโดยที่ทุกฝ่ายเรียนรู้ไปด้วยกัน และนำผลลัพธ์ที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย และสร้างคนไทย ๔.๐ ให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ผู้สนใจสามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา” 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านมาตรฐานการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
     
  *****************************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด