กอปศ.ลงพื้นที่ชลบุรี เก็บข้อมูลแนวทางการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตในเขต EEC

image

 

เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) นำโดย ดร.ภัทรียา สุมะโน ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคม พร้อมด้วยอนุกรรมการสื่อสารสังคม ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานแนวทางการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต โดยมี ดร.ศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย (กศน.) พร้อมบุคลากร กศน. นายอำเภอ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง ให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง และศูนย์การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ตำบลพลูตาหลวง จังหวัดชลบุรี

 

ดร.ภัทรียา สุมะโน ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคม กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นการศึกษาทางเลือกที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้ด้อยโอกาส สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ กอปศ.ได้จัดทำไว้ใน เรื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาตามระบบ  การศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้บุคคลสามารถพัฒนาตนเองเพื่อประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ในการจัดทำแนวทาง ข้อเสนอ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กอปศ.จึงได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ศึกษาดูงานแนวทางการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งความคิดเห็นและข้อเสนอในครั้งนี้จะนำไปบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ กอปศ. กำลังดำเนินการอยู่

 

 

ดร.ศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย กล่าวว่า กศน. ได้จัดทำโครงการศึกษารับฟังข้อมูลของพื้นที่ เพื่อให้รู้สภาพที่แท้จริงของการศึกษา โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สำรวจความต้องการของประชาชน ซึ่งแบ่งความต้องของประชาชนออกเป็น ๒ มิติ คือ ๑. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เนื่องจากตอนนี้มีเขตพื้นที่ EEC จำเป็นต้องมีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ๒. ภาษาอังกฤษเพื่อการประกอบอาชีพ กศน. ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชุมชน โดยเน้นพัฒนาทักษะอาชีพที่สามารถใช้ได้จริง เช่น การซ่อมเครื่องมือ รถจักรยานยนต์ เครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ รถไถ ฯลฯ รวมถึงประสานงานกับอาชีวศึกษา เพื่อส่งนักศึกษา กศน. ไปฝึกอาชีพจำนวน ๒๖ สาขา เช่น การทำอาหาร ไฟฟ้า ฯลฯ คาดว่าเมื่อเปิดเขตพื้นที่ EEC เต็มรูปแบบแล้ว ประชาชนและชุมชนจะสามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้

 

 

 

นายอนุชา พงษ์เกษม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ทาง กศน. ได้จัดทำแผนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นแผนระยะ ๕ ปี ซึ่งได้ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี และหน่วยงานอื่น ๆ เช่น หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ส่งตัวแทนทหารที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เข้ารับการฝึกอบรมด้านการสื่อสาร เพื่อส่งต่อความรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้กับทหารเกณฑ์ เนื่องจากทหารเกณฑ์ส่วนมากมาจากเขตสามชายแดนภาคใต้ ใช้ภาษายาวีในการสื่อสาร จึงไม่มีทักษะความรู้ทางด้านภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในส่วนของหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ได้มีการพัฒนาหลักสูตร โดยการรับฟังความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน เพื่อจัดการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เนื่องจากจังหวัดชลบุรีเป็นเขตพื้นที่ EEC ประกอบกับการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาได้วิเคราะห์ว่า ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เป็นผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามา การเรียนรู้ด้านภาษาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการเข้าสู่ EEC  โดยเฉพาะภาษาเพื่อการสื่อสาร และภาษาเพื่อการขาย อีกทั้งปัจจุบันสื่อโซเซียลมีเดียได้เข้ามามีบทบาทกับคนจำนวนมาก กศน. จึงมีหลักสูตรการสอนทำเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างอาชีพและรายได้จากการขายผ่านสื่อออนไลน์ได้

 

 

นอกจากนี้ กอปศ.และคณะฯ ยังได้เยี่ยมชมและรับฟังการบรรยาย “การฝึกของหน่วยรบพิเศษทำลายใต้น้ำจู่โจม” โดย นาวาเอก ศุภชัย ธนสารสาคร รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ การฝึกพิเศษของหน่วยซีลนั้น ถือเป็นการเรียนการสอนหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เข้มข้น เห็นได้จากการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่า ติดถ้ำหลวง ที่มีความสอดคล้องกับ ๑๐ สมรรถนะหลักที่ กอปศ. ได้ตั้งไว้ ประกอบด้วย ๑) ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ๒) คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน  ๓) การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์  ๔) ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร  ๕) ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน  ๖) ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ  ๗) ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม  ๘) การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล  ๙) การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและภาวะผู้นำ  และ ๑๐) การเป็นพลเมืองตื่นรู้ และสำนึกสากล ท่านสามารถรับชมคลิปวีดิโอ “ถอดรหัสสมรรถนะสำคัญปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่า” ได้ที่  https://youtu.be/HuwV0JghL_Y  จากนั้น กอปศ. และคณะฯ ร่วมวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธินและเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานราชนาวิกโยธิน

 

 
 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด