คณะอนุ กกส.ด้านนโยบายการศึกษาฯ ประชุมนัดแรกปี ๒๕๖๒ เร่งยกร่างข้อเสนอนโยบายสร้างพลเมืองดี-สร้างสันติสุข จชต.

image

  วันนี้ (๒๕ มกราคม ๒๕๖๒) คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ กกส.) ด้านนโยบายการศึกษาและกลไกการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ จัดประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ โดย พลเอก พหล สง่าเนตร เป็นประธานการประชุม ณ ห้องภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น ๒ อาคาร ๑ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 

 

 


      ที่ประชุมได้หารือวาระสำคัญ ๒ ประการ ๑.การยกร่างข้อเสนอนโยบายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ โดยจากการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลของคณะทำงาน สกศ. พบว่า การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สามารถพัฒนาได้โดยใช้การจัดการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมตามแนวคิด STAR STEMS เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เน้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล ใช้ทักษะการคิดเชิงตรรกะควบคู่กับคุณธรรมมุ่งสู่ความดี มีการประยุกต์ใช้ความรู้สู่ความเป็นจริงตามแบบไทย เข้าใจในพหุสังคม วัฒนธรรมตามสภาพภูมิสังคม และสามารถสื่อสารด้วยภาษไทยและภาษาสากล โดยใช้การเรียนรู้แบบใช้สถานการณ์เป็นฐานและการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง (SBL) ดังนั้น ในการพัฒนาผู้เรียนทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย คณะกรรมการศึกษาจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกำหนดนโยบายที่มีความชัดเจนในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ - ๖ ปี มีการกำหนดผู้รับผิดชอบ แผนการดำเนินงาน และจัดสรรงบประมาณ จัดทำแผนการพัฒนาในการพัฒนาผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดทำคู่มือเพื่อใช้ในการพัฒนาบุคคลหรือโรงเรียนต้นแบบ จัดกิจกรรมการถอดบทเรียนแบบปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการบริหารจัดการหรือจัดกิจกรรมในการพัฒนาผู้เรียน ดำเนินการพัฒนาและขยายเครือข่าย โรงเรียนแม่ข่าย โรงเรียนลูกข่าย โรงเรียนต้นแบบ โดยให้แต่ละโรงเรียนได้ออกแบบกิจกรรมในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ควรกำกนดให้นำผลการประเมินผู้เรียน เน้นการเป็นพบเมืองที่เข้มแข็งเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การรับเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยมีสัดส่วนคะแนนอย่างน้อยร้อยละ ๑๐ และควรมีการบูรณาการโครงการต่าง ๆ ที่มีลักษณะที่คล้ายกันเข้าด้วยกันโดยกำหนดตัวชี้วัดให้ครอบคลุม เพื่อเป็นการลดภาระการรายงานผลการดำเนินงาน และประหยัดทั้งงบประมาณและเวลาในการดำเนินกิจกรรม


      ๒. ยกร่างข้อเสนอนโยบายการศึกษาเพื่อเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ซึ่งแนวทางการศึกษาและสังเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้านพบว่า ปัญหา จชต. มีความสลับซับซ้อน มีความยากในการดำเนินการ และจำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทสำคัญครอบคลุม ๓ ประเด็นหลัก ๑) ระดับบุคคล ครอบคลุมตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง และข้าราชการทุกคน ควรน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตลอดจนการปฏิบัติตามหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แปลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ๒) กระบวนการบริหารจัดการ ควรมีมาตรฐานสูง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์ สร้างโอกาส สร้างมาตรฐาน ผลสัมฤทธิ์งานสูง และ ๓) ระบบงานและผลลัพธ์ของงาน มุ่งเน้นปฏิบัติงานร่วมกันอย่างสงบ สมดุล สันติ สุข โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา หลักการทรงงาน ๒๓ ข้อ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จริงใจมุ่งมั่นสันติสุข เน้นเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เป็นตัวนำในการทำงาน

 


     สำหรับกระบวนการคิดของคณะอนุ กกส.ฯ ที่จะนำไปสู่การสร้างเด็กและเยาวชน ให้เป็นพลเมืองดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ ด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด STAR STEMS ประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก คือ


     STAR ได้แก่ Student-คนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ Teacher-กระตุ้นความคิด กระตุ้นจินตนาการ แนะนำ กำกับ Academic-บูรณาการสาระวิชา ความดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รับผิดชอบ Revolution-ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยน พลิกผันทันที


     STEMS เป็นการเรียนรู้แบบ Situation Based Learning : SBL พร้อมสอดแทรกเรื่องคุณธรรม ความเป็นไทยตลอดเวลา ได้แก่ Scientific Thinking หลักเหตุและผล Thai-Technology หลักภูมิปัญญาไทย ศาสตร์พระราชา English-Engineering หลักประสิทธิภาพ ระบบและการสื่อสารภาษาอังกฤษ Moral-Mathematics หลักพิสูจน์ด้วยหลักตรรกะและคุณธรรม Socio Geology หลักความสอดคล้อง เชื่อมโยงกับภูมิสังคม

 


     แนวคิดนี้จะเป็นอีกพลังสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูประบบการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคนไทยได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ วรรค ๔ บัญญัติไว้ว่า “การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย รักภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญตามความถนัด รับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีความพร้อมสำหรับบูรณาการกับการเรียนการสอนทุกสาระวิชา โครงการพิเศษ ตลอดจนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทุกรูปแบบ


      อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวคิด การให้คำนิยาม และพิจารณาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งนี้ คณะทำงาน สกศ. จะได้เร่งสรุปสาระที่เป็นประโยชน์เพื่อปรับแก้ร่างข้อเสนอนโยบายการศึกษา เพื่อรายงานที่ประชุมใหญ่สภาการศึกษา (กกส.) ต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด